สัมภาษณ์ นสพ. POSTTODAYสร้างวินัยการออม สร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว
ครอบครัวศรีวราธนบูลย์ เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะยากจน แต่ก็ไม่ได้อวดร่ำอวดรวย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนสัมผัสได้คือ คนในบ้านหลังนี้ต่างขยันทำมาหากินและมีวิธีการลงทุน ออมเงิน ไม่เว้นแม้แต่ลูกสาวลูกชายในวัยเรียน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีพ่อแม่ผู้เป็นแบบอย่างในการออมเงินให้ลูก วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ บรรณาธิการบริหาร HI-CLASS Media Group คุณแม่ลูกสองคือ วีร์ และ วิศ นักลงทุนตัวน้อย
“ในความคิดของครอบครัวเรา ก็คือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์ มีความรู้ความสามารถในระดับที่เขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ไปจนถึงตอนที่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงมีต้นทุนทางการเงินสักจำนวนหนึ่งที่จะเป็นหลักประกันให้มีความมั่นใจได้ว่า หากมีความเสี่ยงใดก็ตามที่อาจทำให้พ่อแม่ไม่มีความสามารถส่งเสียเขาอย่างต่อเนื่อง เช่น พ่อแม่ตาย พิการ หรือเกิดวิกฤตใดๆที่คาดไม่ถึง ลูกๆก็จะยังมีเงินทุนในบัญชีของตัวเอง เพียงพอสำหรับโอกาสที่จะได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรี และหารายได้เลี้ยงตัวเองได้”
สำหรับวิธีการออมให้ลูกมี 3 ลักษณะ คือ
ออมแบบป้องกันความเสี่ยง คือ การซื้อประกันชีวิตแบบออมเงิน ซึ่งไม่ได้เน้นผลตอบแทนที่เป็นกำไร แต่เป็นความสบายใจว่า ลูกจะได้รับความคุ้มครองตามสมควรเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน และถ้าไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็จะเหลือเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งกะว่าน่าจะพอสำหรับทุนการศึกษาลูกถึงระดับปริญญาตรีในประเทศ
.
ออมแบบประจำ คือ กำหนดให้มีเงินจำนวนหนึ่งตัดเข้าบัญชีเพื่อการออมในชื่อลูกทุกเดือนโดยอัตโนมัติไปตลอดระยะเวลาที่พ่อแม่ยังมีรายได้หลักเข้ามาเป็นประจำทุกเดือน แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่การที่เด็กเห็นว่า บัญชีเงินฝากของเขาเติบโตขึ้นตลอดเวลา ก็จะเกิดแรงจูงใจให้เขาอยากฝากเพิ่ม เพราะเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎในชื่อของเขา
.
ออมแบบลงทุน มีทั้งแบบความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนต่ำ เช่น สลากออมสิน และความเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูง เช่น หุ้น โดยในการเล่นหุ้น เด็กๆยังอายุไม่ถึง พ่อแม่ก็จะเปิดบัญชีหุ้นในนามตัวเองให้ลูกสองคนใช้ร่วมกันไปก่อน และให้เงินก้อนเล็กๆก้อนแรกเพื่อฝึกลงทุน จากนั้นให้เขาช่วยกันตัดสินใจในการลงทุนต่อด้วยเงินออมจากบัญชีของตัวเอง ถ้าตกลงว่าจะซื้อหุ้นไหนเพิ่ม ก็จะถอนเงินเก็บจากบัญชีของแต่ละคนมาซื้อหุ้นจำนวนเท่ากัน (จะได้จำง่ายๆตอนแยกบัญชีในอนาคต) โดยพ่อแม่ต้องสอนความรู้เบื้องต้นในการพิจารณาหาบริษัทที่มีความมั่นคง และมีผลกำไรตอบแทนมาในรูปแบบของเงินปันผล ไม่เน้นการเก็งกำไรซื้อๆขายๆ แต่เน้นเรื่องความเป็นเจ้าของธุรกิจ เช่น ลูกคนโตนั่งรถไฟฟ้าเห็นคนแน่นทุกวัน เขาก็อยากซื้อหุ้นรถไฟฟ้า ส่วนลูกคนเล็กชอบกินชอบเที่ยวชอบพักโรงแรมหรูๆ เขาก็อยากซื้อหุ้นโรงแรม เพราะเขารู้สึกว่า อยากร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น เวลาไปกินไปเที่ยวด้วยกัน เขาก็จะชี้ชวนให้ครอบครัวอุดหนุนร้านที่อยู่ในเครือธุรกิจซึ่งเขามีหุ้นอยู่ ช่วงปิดเทอม ถ้ามีการประชุมผู้ถือหุ้น ก็จะพาเขาไปร่วมด้วย ให้ได้รู้ได้เห็นโลกที่อยู่นอกตำรา”
นอกจากพ่อแม่ออมเงินให้ลูกแล้ว สำคัญยิ่งคือสอนให้ลูกออมเงิน โดยพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด
“จะสมมุติยอดเงินที่ตั้งใจจะออมให้เป็นเสมือน “หนี้สิน” ที่จะต้องผ่อนจ่ายชำระให้ตรงทุกเดือน จะมาคดโกงหรือเบี้ยวหนี้ตัวเองไม่ได้เด็ดขาด แม้ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต ธุรกิจเจอปัญหา เงินจะฝืดยังไงก็จะต้องพยายามหามาจ่ายเงินออมอย่างเที่ยงตรงไม่ให้สะดุดแม้แต่งวดเดียว ซึ่งในการสอนเด็กๆ ช่วงแรกที่เขายังบังคับใจตัวเองไม่ได้ ก็จะให้เขาเปิดบัญชีที่จะต้องถูกตัดฝากอัตโนมัติเพื่อการออมทุกเดือน พอถึงกำหนดเขาต้องมีเงินพอให้ธนาคารตัด ก็จะเป็นการฝึกนิสัยให้เกิดวินัยไปเอง ตอนนี้คนโตทำได้แล้ว แต่คนเล็กยังฝึกกันอยู่
ผลที่ได้จากการออมเขาจะมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี มีความรับผิดชอบสูง รู้จักประหยัด รู้จักวางแผนการใช้จ่าย และการวางทุนสำรองในการใช้ชีวิต ไม่ให้พบกับปัญหาเงินขาดมือ ไม่ต้องเผชิญวิกฤตทางการเงิน และมีต้นทุนที่ดีในการเลือกเส้นทางชีวิตหรือเลือกอาชีพที่ชอบได้อย่างอิสระโดยไม่มีเรื่องเงินทุนมาเป็นข้อจำกัด และไม่ต้องคิดพึ่งใคร”
ด้านน้องวีร์ ลูกสาวคนโด ออมเงินด้วยการฝากธนาคาร ลงทุนในกองทุนรวมและหุ้น ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากคุณแม่ เงินที่นำมาออมนั้นได้จากการเก็บค่าขนมส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งได้จากเงินพิเศษที่ได้เป็นของขวัญจากผู้ใหญ่ในวาระสำคัญต่างๆ และส่วนหนึ่งได้มาจากการทำงานพิเศษต่างๆ เช่น รับจ้างช่วยงานในบริษัท ทำของขายเล็กๆน้อยๆ รับจ้างทำงานในครอบครัว และสำหรับลูกคนโตเขามีความถนัดหลายอย่าง ทั้งเขียนหนังสือ วาดรูป ร้องเพลง ก็ออกไปหางานพิเศษทำเอง ไม่ว่าจะเป็นรับแต่งคอสเพลย์ ไปร้องเพลงเล่นดนตรีเปิดหมวกหลังเลิกเรียนหรือช่วงปิดเทอม ร้องเพลงในร้านอาหาร ก็มีรายได้ต่อเดือนใกล้เคียงกับคนจบปริญญาตรี ซึ่งการที่ได้เห็นตัวเลขในบัญชีงอกเงยจากการลงทุนออม ก็สร้างความภูมิใจอันยิ่งใหญ่ให้เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนนี้
ขอขอบคุณ: หนังสือพิมพ์: POSTTODAY
ปีที่ 14 ฉบับที่ 4858 วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
เซคชั่น: MAX
ชื่อเรื่อง: ออมระดับชาติ รากฐานจากครอบครัว
ผู้เขียน: นกขุนทอง