เล่าให้ลูกฟัง เรื่อง อารยธรรมตะวันออก
อารยธรรมตะวันออก
ลูกชายของดิฉันเรียนในโรงเรียนคริสเตียน ที่มีการสอนเป็นรูปแบบสองภาษา ผู้สอนมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อนๆในโรงเรียนก็มีหลายชนชาติผสมกัน อยู่มาวันหนึ่ง ลูกมาถามว่า แม่ครับ… วัฒนธรรมตะวันออกนี่หมายถึงอะไรบ้าง นอกจากคนจีนกับคนไทยแล้ว ชาวตะวันออกนี่หมายถึงใครอีก อารยธรรมตะวันออกคืออะไร
ดิฉันฟังแล้วก็อึ้งไปนิดนึง ก่อนจะพยายามเรียบเรียงคำตอบแบบง่ายที่สุด เพื่ออธิบายให้เด็กสิบสองขวบเข้าใจ และในใจก็คิดว่า การเล่าเรื่องตะวันออก โดยไม่เชื่อมโยงกับโลก ย่อมไม่เห็นภาพรวม จึงทำ TIMELINE ของ World Civilization แบบง่ายๆ ให้ลูกดูด้วย
อย่างนี้นะลูก…คนไทยอย่างเราคุ้นชินกันมาชั่วชีวิตแล้วกับการถูกเรียกว่าเป็นชาวตะวันออก เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียด้วยกันอีกหลายประเทศ จนบางทีคนที่ไม่ได้สนใจในรายละเอียด หรือเด็กๆก็อาจเข้าใจผิดไปว่า โลกตะวันออกหมายถึงทุกประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะถ้าพิจารณาตามพิกัดภูมิศาสตร์สากลที่ใช้เส้นสมมุติแนวตั้งแบ่งครึ่งดินแดนของโลกออกเป็นสองฟากคือด้านพระอาทิตย์ขึ้นกับด้านพระอาทิตย์ตก ตำแหน่งของเส้นละติจูดแรกหรือเส้นเมอริเดียนเริ่มต้น (Prime Meridian) ที่ลากผ่านขั้วโลกเหนือไปขั้วโลกใต้จะตัดผ่านและแบ่งเอเชียให้มีพื้นที่คร่อมอยู่ทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก นั่นหมายถึงบางส่วนหรือบางประเทศในทวีปเอเชียก็ไม่นับเป็นโลกตะวันออก
แนวคิดการขีดเส้นแบ่งโลกด้วยเส้นแนวตั้งแบ่งเป็นตะวันออกและตะวันตกนี้ เกิดขึ้นตามแนวคิดของนักเดินทางชาวยุโรปนักล่าอาณานิคมยุคโบราณที่เดินเท้าไปตามเส้นทางสายไหมโดยใช้เข็มทิศเป็นเครื่องนำทาง คนที่อยู่ในดินแดนห่างไกลกันต่างก็คิดว่า ถิ่นที่อยู่ของตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางโลก และในสมัยที่โลกก็มีแค่ยุโรปกับเอเชีย เมื่อคนยุโรปเดินเท้ามาเอเชีย เห็นทิศฝั่งเอเชียเป็นด้านที่พระอาทิตย์ขึ้นก็เรียกเอเชียว่าโลกฝั่งตะวันออก ส่วนคนเอเชียเห็นฝั่งยุโรปเป็นด้านที่พระอาทิตย์ตกก็เรียกยุโรปว่าโลกฝั่งตะวันตก ถ้าดูตามแผนที่โลกแบบสองมิติที่เราคุ้นๆกัน ทิศตะวันออกของเอเชีย คือ มหาสมุทรแปซิฟิกเช่นเดียวกับทิศตะวันตกของยุโรปที่เป็นมหาสมุทรแอตแลนติก เดิมคนยังเชื่อว่าโลกแบน คนทั้งสองฝั่งของโลกก็คิดว่า สุดขอบโลกในแต่ละฝั่งของตนนั้นไปสิ้นสุดที่มหาสมุทร
ท่ามกลางชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมในอดีตที่ต่างพยายามเป็นผู้ขีดเส้นวางระเบียบแบ่งเขตแดนโลก ประเทศอังกฤษเป็นผู้มีอำนาจชัดเจนที่สุด เมื่ออังกฤษถือตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ก็กำหนดเอาว่าเส้นเมอริเดียนเริ่มแรกอยู่ในอังกฤษ โดยมีจุดที่ลากผ่านเมืองกรีนวิชประเทศอังกฤษ และแบ่งการเรียกดินแดนในโลกตะวันออกเอาตามความรู้สึกใกล้-ไกลในการเดินทางไปทางที่พระอาทิตย์ขึ้น แบ่งเป็น ตะวันออกใกล้ ตะวันออกกลาง และตะวันออกไกลทั้งนี้การระบุว่าประเทศไหนจัดเป็นตะวันออกไกล-กลาง-ใกล้ ก็ไม่ได้กำหนดตายตัวเป๊ะๆ ขึ้นอยู่กับว่า พิจารณาตามบริบทไหน และในช่วงเวลาไหน ข้อมูลพวกนี้ก็จะแตกต่างกัน
เมื่อยอมรับในการสมมุติว่าโลกแบ่งเป็นสองฝั่งคือตะวันตกและตะวันออกแล้ว การก่อเกิดอารยธรรมของผู้คนในโลกแต่ละฝั่งก็ถูกแบ่งข้างเป็นอารยธรรมตะวันตกและตะวันออกเช่นกัน
แม้ว่าจะมีหลักฐานว่าอยู่ในโลกนี้มานานแล้ว แต่จุดที่นักประวัติศาสตร์นับว่าเป็นการเริ่มต้นอารยธรรมก็คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจากสมัยที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งมาเป็นการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนและมีการทำเกษตรกรรม เริ่มมีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มีการสร้างบ้านสร้างเมือง จุดเปลี่ยนนี้คือความมีอารยธรรม ส่วนยุคก่อนที่จะมีอารยธรรม หมายถึงยุคที่มนุษย์ยังอพยพย้ายที่อยู่ไปตามแหล่งอาหารคือฝูงสัตว์ โดยเมื่อสัตว์อพยพไปตามฤดูกาลต่างๆ มนุษย์ผู้ล่าก็อพยพตามไปด้วย ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในจุดเปลี่ยนมาสู่การมีอารยธรรมคือ การเปลี่ยนรูปแบบหากินจากการล่ามาสู่การเพาะปลูก เมื่อปลูกก็ต้องรอการเก็บเกี่ยวพืชผล ทำให้ต้องอยู่เป็นหลักแหล่งนานขึ้น และพัฒนาเป็นชุมชน
การทำเกษตรกรรมต้องอาศัยน้ำ แหล่งอารยธรรมจึงเกิดขึ้นตามลุ่มน้ำต่างๆ ของโลก แหล่งอารยธรรมแรกๆของโลกตะวันตกเกิดขึ้นที่ลุ่มน้ำไทกรีส-ยูเฟรติส และลุ่มน้ำไนล์ ส่วนแหล่งอารยธรรมตะวันออกเริ่มต้นที่ ลุ่มน้ำสินธุในอินเดียและลุ่มน้ำฮวงโหในจีน เมื่อกล่าวถึงอารยธรรมตะวันออก จึงหมายถึงอารยธรรมจีนและอินเดีย
อารยธรรมอินเดีย
เริ่มต้นขึ้นที่ลุ่มน้ำสินธุ แบ่งออกเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์โบราณ ยุคประวัติศาสตร์สมัยกลาง และยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดยในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นพบหลักฐานว่ามีการเริ่มต้นตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัย 5000 ปีก่อนคริสตกาล โดยเมืองโบราณที่สร้างในยุคก่อนประวัติศาสตร์คือ เมืองโมเฮนโจ – ดาโร ทางตอนใต้ของประเทศปากีสถาน และ เมืองฮารับปา ในแคว้นปันจาป ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน
อารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ของลุ่มน้ำสินธุนั้นเกิดขึ้นโดยชนพื้นเมืองเดิมในอินเดียที่เป็นคนผิวดำเผ่าดราวิเดียน ซึ่งจากซากเมืองโบราณที่ขุดพบ ก็บ่งบอกว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีความสามารถในการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบ มีการวางโซนนิ่ง เขตที่อยู่อาศัย ศาสนสถาน ยุ้งฉาง มีการตัดถนนเป็นมุมฉากและแบ่งเมืองออกเป็นตาราง แสดงความรู้ด้านเรขาคณิตขั้นสูงสิ่งที่โดดเด่นกว่าอารยธรรมอื่นๆ และยังมีการจัดระบบสุขาภิบาลที่ดี รูปแบบการก่อสร้างแสดงให้เห็นว่ามีการปกครองแบบรวมอำนาจ ซึ่งผู้ปกครองอาจเป็นนักบวชหรือกษัตริย์ที่เป็นผู้นำศาสนา
เนื่องจากคนเขียนประวัติศาสตร์อินเดียส่วนมากไม่ใช่ชนเผ่าดราวิเดียน แต่เป็นคนผิวขาวชาวอารยันที่มารุกรานและตั้งตนเป็นใหญ่ในอินเดีย ชาวดราวิเดียนพื้นเมืองจึงถูกเรียกว่าเป็นคนป่าเถื่อน และเรื่องราวของชาวดราวิเดียนก็ถือว่าเป็นเรื่องในยุคก่อนประวัติศาสตร์
ขอบอกดังๆว่า…ปัญหาเรื่องการกดขี่ชาติพันธุ์นี่ก็เป็นเรื่องเลวร้ายอย่างหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์อินเดีย ผ่านการดูหนังอินเดีย เพราะตัวเอกในเรื่อง ที่หล่อๆสวยๆ ล้วนเป็นชาวอารยันทั้งสิ้น ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติในอินเดียที่คนภายนอกควรจะได้รู้ถูกบิดเบือนไป อย่างหนังเรื่องโมเฮนจาเดโรที่เอามาแปะข้างบนนั้น ตัวเอกควรเป็นคนดราวิเดียนหรือคนดำ แต่พวกเขาไม่หล่อไม่สวย และคนอารยันคือผู้มีอำนาจ ก็เอาคนอารยันมาแสดงบทดีๆ ส่วนคนดราวิเดียนดำๆก็ให้เป็นตัวร้าย เป็นทาส หรือเป็นตัวประกอบไป
ยุคประวัติศาสตร์ของอารยธรรมอินเดียเริ่มต้นเมื่อชาวอารยันซึ่งเป็นคนผิวขาว จมูกโด่ง รูปร่างสูงใหญ่ ก็คือคนจากตะวันออกกลางหรือเมโสโปเตเมีย ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เข้ามารุกรานและขับไล่พวกดราวิเดียนในลุ่มน้ำสินธุ ให้ถอยร่นไปทางทิศตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำคงคา บางกลุ่มได้ปะปนทางสายโลหิตกับพวกดราวิเดียนจนทำให้เกิดกลุ่มชนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่าพวกฮินดูเมื่อ 1500 ปีก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา
แม้ชาวอารยันจะมีจำนวนน้อยกว่าชนพื้นเมืองเดิมที่เป็นคนผิวดำตัวเล็กๆ แต่ก็มีความเฉลียวฉลาดในการสู้รบและการปกครอง สามารถกดขี่ให้คนผิวดำชาวพื้นเมืองเดิมกลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่ต่ำกว่าจนเป็นทาสได้ โดยนอกจากชัยชนะในการสู้รบแล้วก็ด้วยการแต่งคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ เพื่อหล่อหลอมความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า ยกย่องเผ่าพันธุ์ตัวเองให้สูงกว่า โดยอธิบายรูปร่างหน้าตาเทพเจ้า และคนในวรรณะสูงๆ คือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ ออกมาเป็นลักษณะชาวอารยัน คือ หน้าตาสวยหล่อแบบฝรั่งหรือแขกขาว จมูกโด่ง สูงใหญ่ ผิวขาว และยังมีการปกป้องเผ่าพันธุ์อารยันของตัวเองไม่ให้สูญเสียอำนาจจากการผสานวัฒนธรรมกับชนพื้นเมืองเดิมผ่านการแต่งงาน มีการออกกฎห้ามการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ โดยใช้ระบบชนชั้นวรรณะมาเป็นกฎโครงสร้างของสังคมที่ชาวอารยันเป็นใหญ่ โดยวรรณะทั้ง 4 ก็คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร มีการกำหนดสิทธิ์ทางสังคมและตำแหน่งหน้าที่เชิงการปกครองชัดเจนว่าวรรณะใดมีสิทธิ์อย่างไร และยังใช้เรื่องความต่างของบุญวาสนา ผิวพรรณ มาครอบงำความคิดของชนพื้นเมืองเดิมให้เชื่อว่าตนอยู่ในวรรณะที่ด้อยกว่า
.
เรื่องราวการสู้รบระหว่างชาวอารยันกับชาวตราวิเดียนนั้นปรากฎเป็นวรรณกรรมสำคัญในรูปมหากาพย์ 2 เรื่องคือ มหากาพย์รามายณะและมหาภารตะ แม้ยุคสมัยจะผ่านไปนับพันปี แนวคิดต่างๆในคัมภีร์พระเวทยังคงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการปกครองที่ยังฝังอยู่ในวัฒนธรรมอินเดียมาจนปัจจุบันนี้
นอกจากศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิพลในอินเดียมาโดยตลอดแล้ว ก็ยังมีการเกิดพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยมขึ้นในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งหากพิจารณาโดยมุมมองทางรัฐศาสตร์แล้ว จุดกำเนิดของศาสนาพุทธแสดงถึงความไม่เห็นด้วยกับระบบวรรณะของอารยันซึ่งแบ่งคนตามชาติกำเนิด โดยศาสนาพุทธถือว่าคนแตกต่างกันที่ความประพฤติ คือ ทำดีละเว้นความชั่ว นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นถึงการดับทุกข์ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นแนวคิดหลุดพ้นจากเรื่องราวความเชื่อของเทพเจ้าและพิธีกรรมต่างๆที่มีอยู่เดิมในอินเดียอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงเวลาต่อๆมาจนปัจจุบัน ศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากศาสนาหนึ่งของโลก รองจากศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู แต่ศาสนาพุทธในอินเดียกลับไม่ได้มีอิทธิพลเหนือศาสนาพราหมณ์ อารยธรรมอินเดียส่วนใหญ่จึงเป็นผลมาจากแนวคิดของศาสนาพราหมณ์
นอกจากนี้ อินเดียยังถูกรุกรานโดยชาวเปอร์เซียในช่วง 550-530 ปีก่อนคริสตกาล และโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งแคว้นมาซิโดเนียของกรีก ในช่วง 336-326 ปีก่อนคริสตกาล ก็มีการผสานวัฒนธรรมกรีก เริ่มมีการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าต่างๆตามอารยธรรมกรีก รวมถึงพระพุทธรูป ซึ่งเดิมในศาสนาพุทธหรือฮินดูจะไม่มีการสร้างรูปเคารพออกมาเป็นรูปคน รูปร่างหน้าตาของรูปเคารพทั้งหลายในยุคแรกๆ จึงบ่งบอกถึงส่วนผสมของวัฒนธรรมกรีกชัดเจน
ประวัติศาสตร์การปกครองโดยระบบกษัตริย์ในอินเดีย ที่เปลี่ยนราชวงศ์มาเรื่อยๆตามการแย่งชิงอำนาจนั้นสิ้นสุดลงที่ราชวงศ์โมกุล ก่อนที่อินเเดียจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กษัตริย์ราชวงศ์โมกุลเป็นพวกที่สืบเชื้อสายมองโกลและนับถือศาสนาอิสลาม กษัตริย์ผู้โด่งดังของราชวงศ์โมกุลมีหลายพระองค์ แต่ที่คนไทยรู้จักดีคือ พระเจ้าชาห์เจฮัน ผู้สร้างทัชมาฮาลนั่นเอง
อารยธรรมจีน
เริ่มต้นขึ้นที่ลุ่มน้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง มีหลักฐานจากสิ่งของเครื่องใช้ที่ขุดพบบ่งบอกว่า มีการตั้งรกรากในบริเวณนี้มานานกว่า 5000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งการก่อเกิดของอารยธรรมลุ่มน้ำฮวงโหนี้เป็นข้อได้เปรียบทางชัยภูมิด้านการปกครองของจีนด้วย เพราะนอกจากจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่เหมาะแก่การใช้ดำรงชีวิต เป็นที่ราบที่อุดมสมบูรณ์ด้วยดินตะกอนที่เหมาะแก่การเพาะปลูก มีแหล่งแร่ธาตุโลหะมากมายที่สามารถขุดขึ้นมาทำเครื่องมือเครื่องใช้และเป็นพลังงาน เช่น ถ่านหิน เหล็ก ตะกั่ว ทองแดง ยังอยู่ในทำเลที่แวดล้อมด้วยกำแพงธรรมชาติ ทางตะวันออกมีมหาสมุทรแปซิฟิก ทางใต้เต็มไปด้วยภูเขาและป่าดิบร้อน ส่วนทางตะวันตกและทางเหนือก็เป็นทุ่งหญ้าทะเลทรายและภูเขา มีส่วนช่วยให้อารยธรรมจีนคงอยู่มาต่อเนื่องยาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากภายนอกน้อยมาก เมื่อลำดับประวัติศาสตร์อารยธรรมจีนจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านของราชวงศ์ต่างๆที่สู้รบแย่งชิงอำนาจกัน แต่เผ่าพันธุ์ของราชวงศ์ต่างๆเหล่านั้นก็เป็นคนเชื้อสายเดียวกันคือชาวจีน ที่มีลักษณะหน้าตาและผิวพรรณบ่งบอกว่าเป็นมองโกลอยด์ด้วยกันอย่างชัดเจน คือ มีผิวเหลือง รูปร่างสันทัด ผมสีดำ ตาสีน้ำตาล จมูกไม่โด่งนัก รูปหน้ากลม ริมฝีปากบาง
ลักษณะเชื้อชาติของมนุษย์ในทางชีววิทยาหรือแบ่งตามลักษณะทางกายภาพของร่างกาย จะแบ่งออกเป็น 5 เผ่าพันธุ์ใหญ่ๆ คือ
- มนุษย์เชื้อชาติคอเคซอยด์ กระจายแพร่หลายในยุโรป อเมริกาเหนือ-ใต้ มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว ขนตามลำตัวสีน้ำตาล ผมสีทอง ริมฝีปากบาง จมูกโด่ง นัยน์ตาสีน้ำเงิน หรือฟ้า มีเชื้อชาติย่อยเป็น พวกนอร์ดิก เซลติค อามาเนีย และออสเตรเลียน
- มนุษย์เชื้อชาตินิกรอยด์ กระจัดกระจายอยู่ในอัฟริกาและมีชาติย่อย ในปาปัวนิวกินี และเมลานิเซียน มีผิวสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ผมดำหยิกขอด ริมฝีปากหนา รูปร่างสันทัด และสูงใหญ่ในบางกลุ่ม
- มนุษย์เชื้อชาติมองโกลอยด์ กระจัดกระจายอยู่ในเอเซีย มีชาติย่อยๆ เช่น เอสกิโม อินเดียนในอเมริกาเหนือ-กลาง มีผิวเหลือง รูปร่างสันทัด ผมสีดำ ตาสีน้ำตาล จมูกไม่โด่งนัก รูปหน้ากลม ริมฝีปากบาง
- มนุษย์เชื้อชาติออสตราลอยด์ เป็นชาวพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย และบริเวณเกาะใกล้เคียง ผิวดำ ผมหยิก ริมฝีปากหนา รูปร่างสันทัด ใบหน้ารูปไข่
- มนุษย์เชื้อชาติโพลีเนเซียน เชื้อชาติที่แพร่กระจายอยู่ตามเกาะ ของมหาสมุทรแปซิฟิคตอนกลาง และตอนใต้ มีรูปร่างสันทัด ผิวสีน้ำตาล ผมหยักโศก
แม่น้ำฮวงโหนั้น เปรียบเสมือนแม่ผู้มั่งคั่งที่มอบความกินดีอยู่ดีและความยิ่งใหญ่ให้ลูกๆชาวจีนอย่างที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแม่ที่ดุแสนดุ ในยามโกรธเกรี้ยว แม่น้ำฮวงโหก็มีอารมณ์แปรปรวนโหดร้าย มีภาวะน้ำล้นตลิ่ง เกิดอุทกภัยหลายครั้งซึ่งแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างมากมายมหาศาล จึงได้รับฉายาว่า “แม่น้ำวิปโยค” อารยธรรมชาวจีนที่จะอยู่ร่วมกับแม่น้ำนี้ให้รอดได้อย่างปลอดภัย จึงต้องมีการพัฒนาสั่งสมภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นปฏิทินทางจันทรคติ เพราะดวงจันทร์เป็นสิ่งที่ควบคุมน้ำขึ้นน้ำลง และศาสตร์ด้านฮวงจุ้ยที่เกี่ยวข้องกับการวางทำเลที่ตั้งของที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับทิศทางของลมและน้ำ
นอกจากนี้ เพื่อให้การปกครองราบรื่น เป็นขวัญกำลังใจแก่พสกนิกร บรรดาจักรพรรดิ์จีนก็ต้องได้รับการยกย่องว่ามีฤทธิ์เดชเหนือธรรมชาติ สามารถควบคุมฟ้า-ดิน-น้ำ ได้ด้วย จักรพรรดิ์จีนจึงถือว่าเป็นโอรสแห่งสวรรค์ แม้จะมีการยกชนชั้นปกครองไว้สูงเหนือคนทั่วไปว่าเป็นเทพเจ้า แต่ข้อดีอย่างหนึ่งในสังคมจีนคือ ระบบชนชั้นของจีนนั้นไม่ได้ตายตัวตามชาติกำเนิด ใครๆก็สามารถเปลี่ยนระดับชนชั้นจากใดๆก็ได้มาสู่ชั้นบนคือ ชนชั้นขุนนาง ปัญญาชน ด้วยการสอบแข่งขันวัดระดับความรู้ความสามารถและคุณธรรม เพื่อมาทำงานบริหารราชการแผ่นดิน มีโอกาสไต่เลื่อนขั้นไปจนถึงตำแหน่งคนใกล้ชิดของจักรพรรดิ์ ขุนนางจีนนอกจากจะมีเกียรติสูงส่งแล้ว ยังมีสิทธิ์ยกเว้นการเกณฑ์แรงงาน ได้รับการยกเว้นภาษี และมีชีวิตที่สะดวกสบาย จัดว่าเป็นชนชั้นสูงกว่าพ่อค้าและทหาร
อารยธรรมจีนยกย่องคนที่ความรู้ความสามารถ ไม่ได้ยกย่องคนที่อวดอ้างเป็นผู้มีอภินิหารเหนือธรรมชาติ แต่เป็นผู้ที่สร้างสรรค์ปรัชญาความรู้ต่างๆ เช่น ลัทธิขงจื้อ ที่เชื่อว่า มนุษย์ที่สมบูรณ์คือมนุษย์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ลัทธิเต๋าหรือเล่าจื้อ ที่เน้นการเคารพในกฎธรรมชาติ
คนจีนอยู่แถวลุ่มน้ำฮวงโหมานานกว่า 5000 ปีก่อนคริสตกาลแล้วก็จริง แต่การเริ่มนับยุคสมัยของอารยธรรมนั้นอิงตามการเกิดสังคมหรือชุมชนที่มีแบบแผนการปกครองชัดเจน มีการบันทึกเริ่มต้นราชวงศ์แรกของจีนคือ ราชวงศ์เซี่ย เมื่อ 2205 ปีก่อนคริสกาล และหลังจากนั้นก็มีราชวงศ์ต่างๆหมุนเวียนกันเป็นผู้ปกครองต่อเนื่องไม่ขาดสาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเจริญทางอารยธรรมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง กฎหมาย การทำธุรกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศาสนา ปรัชญา ระบบสังคม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ
ถ้าพิจารณาประวัติศาสตร์อารยธรรมจีน ที่แบ่งเป็นยุคได้แก่ ยุคโบราณ ยุคจักรพรรดิ ยุคก้าวสู่จีนยุคใหม่ ยุคประเทศสาธารณะรัฐจีน และยุคปัจจุบันคือประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน จะเห็นว่า มีความต่อเนื่องยาวนานชัดเจนที่สุดในช่วงของการปกครองโดยราชวงศ์ จึงทำให้รูปแบบของศิลปวัฒนธรรม และสังคม ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือก่อนปฏิวัติวัฒนธรรม มีลักษณะที่แข็งแรงชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ ไม่ค่อยมีอิทธิพลจากอารยธรรมอื่นเข้ามาผสมหรือครอบงำให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษา กฎหมาย ระเบียบสังคม ค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี ศาสนา ฯลฯ
นักประวัติศาสตร์นิยมเรียกประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ ราชวงศ์ฉิน ถึง ราชวงศ์ชิง (221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ว่าเป็นจีนยุคจักรพรรดิ ด้วยจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในยุคนี้คือ ฉินซีฮ่องเต้ ผู้มีผลงานมากมาย ถึงแม้ว่าราชวงศ์ฉินจะมีอายุเพียงแค่ 12 ปี แต่พระองค์ได้วางรากฐานสำคัญของอารยธรรมจีนไว้เป็นจำนวนมาก เมืองหลวงของจีนในช่วงราชวงศ์ฉิน ตั้งอยู่ที่เสียนหยาง บริเวณเมืองซีอานปัจจุบัน
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของราชวงศ์ฉินคือ กำแพงเมืองจีน สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ซึ่งเป็นการต่อแนวกำแพงเก่าให้เป็นปึกแผ่น ฉินซีฮ่องเต้สร้างแนวปกกันพวกป่าเถื่อนจากทางเหนือโดยการสร้างกำแพงต่อเชื่อมกำแพงเดิมที่อยู่เดิม จากการก่อสร้างของรัฐต่าง ๆ สมัยจ้านกั๊ว การก่อสร้างนี้ทำให้กลายเป็นกำแพงขนาดยาวนับหมื่นลี้ จึงเรียกกำแพงนี้ว่า “กำแพงหมื่นลี้” ผลงานอื่นๆ ได้แก่ระบบกฎหมาย การเขียนหนังสือ ระบบเงินตรา เป็นต้น
.
แหล่งอารยธรรมจีนในยุคหลัง เปลี่ยนไปตามการปกครอง มีการย้ายศูนย์กลางความเจริญไปตามช่วงเวลา จนมาสิ้นสุดที่ราชวงศ์ชิงในปีคริสตศักราช 1911 ในปลายสมัยของราชวงศ์ชิง ถือว่าได้เป็นยุคตกต่ำของราชวงศ์ เนื่องจากได้เกิดจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมขึ้น ประเทศตะวันตกในยุโรป ได้เริ่มล่าอาณานิคมในเมืองจีน โดยมีจักรวรรดิอังกฤษเป็นชาติแรก อังกฤษได้นำฝิ่นมามอมเมาชาวจีนทำให้ราชสำนักชิงอ่อนแอ นำไปสู่สงครามฝิ่นถึง 2 ครั้ง ซึ่งราชวงศ์ชิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทำให้ต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงแก่อังกฤษ อีกทั้งต้องทำสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมจำนวนมากกับชาติตะวันตก และต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ราชวงศ์ชิงยังพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำให้จีนสูญเสียเกาหลีและเกาะไต้หวัน แก่ญี่ปุ่น อีกทั้งการเกิดกบฎนักมวย ในปี พ.ศ. 2442 ทำให้ชาวจีนรู้สึกอัปยศอดสูเป็นอย่างมาก จักรพรรดิกวางสูได้ทรงพยายามทำการปฏิรูปพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแต่แผนการของพระองค์กลับถูกทำลายลงโดย พระนางซูสีไทเฮา ผู้เป็นอนุรักษ์นิยมสุดขั้วทำการขัดขวางการพัฒนาสู่สมัยใหม่ของจักรวรรดิต้าชิง
การแบ่งยุคประวัติศาสตร์จีน (ที่มา: http://www.thaichinese.net/History/history1-%20timeline.html)
ช่วงเวลา | ยุคสมัย | 朝代 |
ก่อน ค.ศ.2000-1500 | ยุคเซี่ย | 夏 |
ก่อน ค.ศ.1700-1027 | ยุคซาง | 商 |
ก่อน ค.ศ.1027-771 | ยุคโจวตะวันตก | 西周 |
ก่อน ค.ศ.770-221 | ยุคโจวตะวันออก | 东周 |
ยุคชุนชิว (770-476 ฺB.C.) | 春秋 | |
ยุคจ้านกั๊ว (475-221 B.C.) | 战国 | |
ก่อน ค.ศ.221-207 | ราชวงศ์ฉิน | 秦 |
ก่อน ค.ศ.206-ค.ศ.9 | ยุคฮั่นตะวันตก | 西汉 |
ค.ศ.9-21 | ยุคซิน | 新 |
ค.ศ.21-220 | ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก | 东汉 |
ค.ศ.220-280 | ยุคซานกั๊ว(สามก๊ก) | 三国 |
ยุคเว่ย(ค.ศ.220-265) | 魏 | |
ยุคฉู่(ค.ศ.221-263) | 蜀 | |
ยุคอู๋(ค.ศ.226-280) | 吴 | |
ค.ศ.265-316 | ยุคจิ้นตะวันตก | 西晉 |
ค.ศ.317-402 | ยุคจิ้นตะวันออก | 东晉 |
ค.ศ.420-588 | ยุคหนานฉาว(ฉาวใต้) | ื南朝 |
ราชวงศ์ซ่ง(ค.ศ.420-478) | 宋 | |
ราชวงศ์ฉี(ค.ศ.479-501) | 齐 | |
ราชวงศ์เหลียง(ค.ศ.502-556) | 梁 | |
ราชวงศ์เฉิน(ค.ศ.557-588) | 陈 | |
ค.ศ.386-588 | ยุคเป่ยฉาว(ฉาวเหนือ) | 北朝 |
เป่ยเว่ยหรือเว่ยเหนือ(ค.ศ.386-533) | 北魏 | |
ตงเว่ยหรือเว่ยตะวันออก(ค.ศ.534-549) | 东魏 | |
ซีเว่ยหรือเว่ยตะวันตก(ค.ศ.535-557) | 西魏 | |
เป่ยฉีหรือฉีเหนือ(ค.ศ.550-577) | 北齐 | |
เป่ยโจวหรือโจวเหนือ(ค.ศ.557-588) | 北周 | |
ค.ศ.581-617 | ราชวงศ์สุย | 隋 |
ค.ศ.618-907 | ราชวงศ์ถัง | 唐 |
ค.ศ.907-960 | สมัยอู่ต้ายหรือสมัยห้ายุค | 五代 |
ค.ศ.907-979 | ยุคสือกั๊วหรือยุคสิบรัฐ | 十国 |
ค.ศ.960-1279 | ยุคซ่ง | 宋 |
ยุคเป่ยซ่งหรือซ่งเหนือ(ค.ศ.960-1127) | 北宋 | |
ยุุคหนานซ่งหรือซ่งใต้(ค.ศ.1127-1279) | 南宋 | |
ค.ศ.916-1125 | ยุคเหลียว | 遼 |
ค.ศ.1038-1227 | ยุคซีเซี่ยหรือเซี่ยตะวันตก | 西夏 |
ค.ศ.1115-1234 | ยุคจิน | 金 |
ค.ศ.1279-1368 | ราชวงศ์หยวน | 元 |
ค.ศ.1368-1644 | ราชวงศ์หมิง | 明 |
ค.ศ.1644-1911 | ราชวงศ์ชิง | 清 |
ค.ศ.1911-1949 | ประเทศสาธารณะรัฐจีน | 中华民国 |
ค.ศ.1949- | ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน | 中华人民共和国 |
.
ตลอดระยะเวลาที่ราชวงศ์ชิงระส่ำระส่าย เป็นประเทศล้าหลังและวุ่นวาย ชาวจีนถูกชาวตะวันตกและญี่ปุ่น ขนานนามว่าเป็น ขี้โรคแห่งเอเชีย ทำให้ชาวจีนบางส่วนต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีของประเทศ โดยมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เจริญและเป็นประชาธิปไตย โดยเกิดการต่อตั้งขบวนการ “ถงเหมิงฮุ่ย” ที่มี ดร. ซุน ยัตเซ็น เป็นผู้นำ ราชวงศ์ชิงครองแผ่นดินจีนจนถึงปี พ.ศ. 2454 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ซึ่งเป็นการลุกฮือต่อต้านราชวงศ์ชิง ราชวงศ์ชิงถูกยึดอำนาจในปีนั้น และใน พ.ศ. 2455 จักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์ชิง และการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเวลานับ 5,000 ปีของประวัติศาสตร์จีน จนกระทั่ง ถงเหมิงฮุ่ย – สมาพันธ์ความร่วมมือเพื่อการปฏิวัติประชาธิปไตยจีน ได้เปลี่ยนแปลงประเทศนำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย (ถงเหมิงฮุ่ย ยังรู้จักกันอีกในนาม สหสันนิบาตจีน ซึ่งเป็นสมาคมลับที่ทำการเคลื่อนไหวใต้ดินต่อต้านราชวงศ์ชิง ก่อตั้งโดยซุนยัตเซ็นและซ่งเจี้ยวเหรินที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น) และต่อมาเมื่อก่อตั้งสาธารณรัฐจีนสำเร็จในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1912 ถงเหมิงฮุ่ยก็ได้พัฒนาไปเป็นกว๋อหมินตั่งหรือพรรคคณะชาติ
จากข้อมูลเบื้องต้นที่บอกเล่ากันมาพอหอมปากหอมคอเกี่ยวกับอารยธรรมตะวันออก ทั้งวัฒนธรรมอินเดียและจีน ก็คงพอทำให้ลูก พอเห็นภาพของที่มาที่ไปได้ชัดเจนขึ้น และสามารถศึกษาหาข้อมูลต่อได้ตามแนวทางที่อยากรู้ เพิ่มเติม เช่น อยากรู้ว่า ลำดับราชวงศ์จีนมีอะไรบ้าง แต่ละยุคน่าสนใจยังไง หรืออินเดียมีการเปลี่ยนแปลงยังไง โดยในขณะเดียวกันก็สามารถดูไทม์ไลน์เทียบการเปลี่ยนแปลงของฝั่งอารยธรรมตะวันตกควบคู่กันไปได้ด้วย จะได้รู้ว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น แต่ละประเทศเจริญต่างกันยังไง เพราะความเจริญที่ไม่เท่ากันในช่วงเวลาเดียวกันนี่แหละ ทำให้เกิดการออกไปรุกรานกัน เพราะคนที่เจริญกว่า ก็มีอำนาจมากกว่า ตามนิสัยคน พอมีอำนาจมาก ถ้าไม่มีอะไรดีๆทำ ก็ออกจากบ้านไปรังแกคนอื่น หรือไปเอาเปรียบคนอื่น ของแบบนี้ มันเป็นมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์แล้ว ถ้าอยากรู้ เดี๋ยววันหลังเรามาคุยกันต่อก็ได้จ้า