วิธีรับมือกับอาการจิตตก
สุข-ทุกข์เป็นสิ่งที่หมุนเวียนเข้ามาปะทะจิตใจคนเราอยู่เสมอ ใครๆก็มีโอกาสเจอภาวะ “จิตตก” ได้ทั้งนั้น ซึ่งการรับมือกับอาการจิตตกแต่ละแบบจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า จิตตก เพราะอะไร
จิตตกเพราะใจเปราะ
ตามปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ของคนเรา จะเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งจะมีอาการมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางจิตใจของแต่ละคน คนที่มีจิตใจแข็งแรง จะรับมือกับสิ่งกระทบใจได้ดีกว่าคนจิตใจอ่อนแอ ซึ่งเราทุกคนสามารถฝึกฝนจิตใจให้มีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น ไม่เปราะบาง ไม่อ่อนไหวง่าย ทำนองเดียวกับการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง โดยการฝึกฝนเหล่านี้จะได้ผลดีหากเริ่มตั้งแต่อายุน้อยๆ การเลี้ยงดูจากครอบครัวจึงมีความสำคัญมากที่สุด
เด็กที่ได้รับการฝึกฝนให้รู้จักควบคุมอารมณ์เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้เขารู้สึก อยากได้ โกรธ ผิดหวัง กลัว อับอาย และรู้จักการอดทนรอคอย มีแนวโน้มที่จะโตขึ้นมาเป็นคนจิตใจแข็งแรง กว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างตามใจ
แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้ถูกฝึกให้มีจิตใจแข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ใจร้อน ใจเสาะ หรือใจมด แต่ถ้าคุณมองออกว่า การมีจิตใจที่มั่นคงแข็งแรงจะทำให้คุณพบกับความสุขและความสำเร็จได้ง่ายขึ้น คุณก็สามารถฝึกฝนได้ด้วยตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ คือการตั้งสติ เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ใดที่กระตุ้นให้คุณเกิดความรู้สึกไม่เป็นกลางในอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือลบ ให้เริ่มต้นจากการหายใจเข้าลึกๆ สักสามครั้ง ตามด้วยการตั้งสมาธินับหนึ่งถึงสิบในใจอย่างช้าๆ ก่อนที่จะแสดงอาการโต้ตอบไปตามสัญชาตญาณ วิธีการเช่นนี้ จะช่วยชะลอปฏิกริยาทางอารมณ์ที่แปรออกมาทางพฤติกรรมภายนอกได้ระดับหนึ่ง เวลาในการแสดงออกทางอารมณ์ที่ช้าลงจะช่วยให้จิตใจคุณได้ฝึกต้านแรงที่เข้ามากระทบ เหมือนคนฝึกยกน้ำหนัก เมื่อฝึกบ่อยๆ สิ่งที่เคยรู้สึกหนักหรือรุนแรงก็จะกลายเป็นเบาลง จิตใจของคุณอาจจะไม่พองโตฟูฟ่องง่ายเกินเหตุเพราะความดีใจ และในขณะเดียวกันก็จะไม่เกิดอาการ “จิตตก” รุนแรงเพราะความเสียใจหรือผิดหวังได้ง่ายเหมือนที่ผ่านๆมา
จิตตกเพราะป่วย
ทั้งนี้ คุณก็ต้องคอยสังเกตตัวเองดีๆ ว่า อาการ “จิตตก” ของคุณนั้น เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล เพราะถ้าคุณพบว่า อยู่ดีๆ เกิดจิตตก เศร้าหมอง ซึมวูบ หวาดระแวง กลัว กลุ้มใจ หงุดหงิด โดยไม่ได้มีเรื่องภายนอกเข้ามากระทบ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า คุณมีสภาวะจิตป่วย จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในเบื้องต้นคงไม่มีใครอยากไปพบจิตแพทย์ในทันที เพราะไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยทางจิต
ถ้าคุณเริ่มมีอาการจิตตกในลักษณะนี้ สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือต้องหยุดอารมณ์แย่ๆที่กำลังครอบงำคุณอยู่ให้หายไปอย่างรวดเร็วเสียก่อน พยายามตั้งสติ บอกตัวเองว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเพียงสภาวะไม่ปกติที่มาครอบงำในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และหาวิธีเบี่ยงเบนความคิดของคุณออกจากสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่ให้ได้มากที่สุด เช่น ถ้าคุณอยู่ในที่มืดๆ ก็ให้รีบออกไปในที่สว่าง หรือเปิดไฟ ถ้ารู้สึกร้อนอึดอัด ก็ให้ไปอยู่ที่เย็นๆ หรือมีการระบายอากาศที่ดี ถ้าจมอยู่กับบรรยากาศเงียบเหงาหม่นเศร้า ก็ให้เปิดเพลงดังๆ ลุกขึ้นมาขยับเนื้อขยับตัวให้เหงื่อออก วิธีเบี่ยงเบนหรือหยุดอารมณ์แบบเร็วๆนี้ อาจไม่ได้ช่วยรักษาอาการจิตตกในระยะยาว แต่ช่วยให้คุณรอดจากการตัดสินใจทำอะไรผิดๆจากสภาวะจิตไม่ปกติที่ผ่านเข้ามาในวูบนั้นได้ ก่อนที่จะรีบไปหาหมอ เพราะถ้าคุณมั่นใจว่า ตัวเองไม่ได้มีปัญหาใดๆ แต่ดันจิตตกโดยไม่ทราบสาเหตุ นั่นอาจเป็นเพราะฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงวัยทอง รวมไปถึงความเจ็บป่วยทางกายที่มีผลต่อประสาทและสมอง
จิตตกเพราะพฤติกรรม
นอกเหนือจากอาการจิตตกเพราะพื้นฐานจิตใจไม่แข็งแรง และจิตตกเพราะโรคภัยไข้เจ็บแล้ว สาเหตุของปัญหาจิตตกที่สำคัญอย่างสุดท้ายคือ การไม่ทำในสิ่งต่างๆที่ควรทำ เช่น ไม่ส่งงาน ไม่จัดห้อง ไม่ควบคุมการใช้จ่าย ไม่รักษาสัญญา ไม่ดูแลตัวเอง ฯลฯ แม้ภายนอกคุณจะทำเป็นชิลล์ๆ ไม่ใส่ใจ แต่ลึกๆแล้วล้วนทำให้เกิดความเครียดแฝง อาจถึงขั้นสูญเสียความเคารพในตัวเอง รู้สึกด้อยค่า หดหู่ บางคนแก้ปัญหาโง่ๆด้วยการช้อปกระจาย กินจนอ้วน เที่ยวหัวราน้ำ สปอยล์ตัวเองไปวันๆ แต่กลับรู้สึกแย่ลงเรื่อยๆ อาการจิตตกแบบนี้ ต้องแก้ที่สาเหตุ โดยลุกขึ้นมาเคลียร์สิ่งที่หมักหมมเลอะเทอะในชีวิตให้เรียบร้อยซะ จิตใจก็จะสบายขึ้นเอง