Huawei VS Google & Trump สงครามการค้า จีนกับอเมริกา ที่มีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

20190520 -​ บันทึกไว้​ ว่าข่าวเกรียวกราวที่สุดของวันนี้​ คือข่าวสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ​ ที่มาถึงขั้น​ Google​ ตัดสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ​ Huawei ซึ่งได้ข่าวว่าจะลงเอยด้วยการที่​ ต่อไปผู้ใช้โทรศัพท์​ Huawei​ จะไม่สามารถใช้แอพลิเคชั่นต่างๆของค่ายกูเกิล และไม่สามารถอัพเดตฟีเจอร์ใหม่ๆของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้
.
สองวันก่อนหน้านี้​ หลังจากมีข่าวว่า​ สหรัฐอเมริกาสั่งแบนมือถือ​ Huawei​ ของจีน​ ดิฉันออกจากบ้านไปซื้อโทรศัพท์​ Huawei​ P30​ มาเครื่องหนึ่ง​ ระหว่างที่รอน้องพนักงานขายเซ็ทอัพเครื่อง​ ก็คุยกับน้องเขาเพลินๆ​ ถึงอนาคตธุรกิจของ​ Huawei​ และราคาที่น่าจะตกลงฮวบฮาบ​ จากการกดดันทางการค้าจากอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ
.
น้องคนขายถามว่า​ พี่ก็รู้ข่าว​ ทำไมถึงยังรีบซื้อวันนี้​ ก็บอกว่า​ พอดีวันนี้ว่าง​ และกำลังจะเดินทาง​ ก็อยากได้มือถือที่ถ่ายรูปได้ดีมากๆกว่าเครื่องเดิมที่ใช้อยู่​ ไม่อยากแบกกล้องไป​
.
ปัจจุบันดิฉันมีประสบการณ์ใช้โทรศัพท์มือถือ​ ทั้งที่เคยใช้และกำลังใช้อยู่​รวมสี่แบรนด์​ ได้แก่​ ไอโฟน​ ซัมซุง​ วีโว​ และล่าสุดคือ​ หัวเว่ย
.
ดิฉันชอบความสร้างสรรค์ของไอโฟน​ ชื่นชม​ สตีฟ จ๊อบส์ แต่ในฐานะนักเดินทาง​ รู้สึกไม่ค่อยสะดวกกับการที่ต้องผูกชีวิตไว้กับอุปกรณ์ตระกูล​ i ที่ใช้ร่วมกับยี่ห้ออื่นไม่ได้​

ดิฉันชอบซัมซุง​ ใช้สะดวก​ แต่รู้สึกว่าช่วงหลังๆ​ ไม่ค่อยมีนวัตกรรมที่สร้างแรงดึงดูดเท่าช่วงต้น

ดิฉันสนุกกับภาพบุคคลสวยใสจาก​ วีโว​ แต่พอใช้ไปนานๆรู้สึกรำคาญที่มันสวยลวงตาจนน่าเบื่อ

ส่วน​ หัวเว่ย​ ที่เป็นตัวเลือกล่าสุดนั้น​ ซื้อเพราะคุณภาพกล้องอย่างเดียว ตั้งใจเอามาทำงานแทนกล้องถ่ายรูป​ ส่วนเทคโนโลยีด้านอื่นไม่ใช่ประเด็นหลัก​ เพราะไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนๆ​ ก็ใช้ไม่เคยเต็มศักยภาพที่โทรศัพท์ทำได้สักที​ และถ้าเกิดใช้แอพของกูเกิลไม่ได้ขึ้นมาตามข่าวจริงๆ​ ก็คงมีเดือดร้อนบ้าง​ แต่ถามว่ากลัวไหม… ก็ไม่กลัว
.
แน่นอนว่า​ ผลกระทบจากปัญหาจีนกับสหรัฐรอบนี้กระทบถึงผู้บริโภคโดยตรง​ แต่สำหรับคนที่เกิดมาในยุคที่เราสื่อสารกันด้วยการเขียนจดหมาย​ มีโอกาสได้ถ่ายภาพอย่างมากปีละครั้งในวันเกิด​หรือมีโอกาสพิเศษ โดยพ่อจะพาเราแต่งตัวดีที่สุดไปถ่ายภาพที่ร้านถ่ายภาพมืออาชีพของจังหวัด​ (ซึ่งเป็นสตูดิโอแบบโบราณ​ ที่ช่างภาพใช้กล้องใหญ่​ ต้องเอาหัวมุดเข้าไปถ่าย)​ เป็นเด็กในยุคที่วิ่งไปขอใช้โทรศัพท์บ้านใกล้เรือนเคียงเพื่อโทรและรับสายด่วนจากคนที่กรุงเทพฯ​ เป็นวัยรุ่นที่เคยฝากข้อความถึงแฟนในยุคที่เราต้องบอกเรื่องส่วนตัวของเราผ่านพนักงาน​ แล้วเขาคีย์ข้อความส่งให้อีกฝ่ายอ่าน​ ผ่านเครื่องที่เรียกว่าแพคลิงค์หรือเพจเจอร์​ เคยแชทกับคนแปลกหน้าผ่านจอคอมพิวเตอร์โปรแกรมไอซีคิว​ ต้องรอการติดต่อที่ยาวนานและค่าสัญญาณแพงมหาโหด​ เคยส่งข้อมูลด้วยแผ่นดิสเก็ทที่มีความจุ​ 1.44 mb เคยทำ​งาน​ cg ให้ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่​ ด้วยคอมพิวเตอร์ที่มี Ram 64 mb ซึ่งถือว่าหรูสุดเร็วสุดแล้วในยุคนั้น
.
และแม้ว่า​ เราจะเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์สายสถาปัตย์​ ที่ทำงาน​ cg visualization ให้โครงการอสังหาริมทรัพย์มาแล้วทุกรูปแบบ​ แต่ถ้าถึงวันที่โลกไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีกล้อง​ ไม่มีโปรแกรมสร้างภาพ​ ฯลฯ​ เราก็ไม่เคยลืมว่า ครั้งหนึ่งเราก็ผ่านหลักสูตรที่วาดภาพระบายสีได้เหมือนภาพถ่าย ตัดโมเดลด้วยมือได้เนี้ยบ​

ยุคที่เราผ่านกันมานั้น​ เป็นยุคที่​ “ยาก” กว่าปัจจุบันเยอะ
.
เราคงไม่มีอะไรให้ต้องกลัวมากนัก​
.
ดิฉันดีใจที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ยาวนานพอที่จะได้ใช้สมาร์ทโฟน​ ได้คุยแบบเห็นหน้าร่ำลากับพ่อในช่วงบั้นปลายของชีวิตพ่อ​ ผ่านทางโปรแกรมแมสเซนเจอร์ในเฟซบุ๊ค​ ได้ถ่ายทั้งวิดีโอและภาพนิ่งการพูดคุยของพ่อ​มากมาย​ อัพขึ้น​ cloud storage เพื่อเก็บเอาไว้เปิดดูหน้าพ่อยามคิดถึง​ เสมือนพ่อยังมีชีวิตอยู่
.
ดิฉันดีใจที่ได้เห็นทุกการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์​ ได้เห็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยี​ต่างๆ​ ได้เห็นความยิ่งใหญ่แบบที่เรียกว่า​ “ครองโลก” ได้ของกูเกิล​ เฟซบุ๊ค​ ฯลฯ ได้เห็นความน่ากลัวของคำว่า​ monopoly การผูกขาด​ ครอบงำ​ ควบคุม​ ที่เริ่มต้นมาจากการทำตัวเป็นของฟรี​ การเข้ามาหาเราด้วยมิตรภาพ​ ความปรารถนาดี​ ที่มักลงเอยด้วยการถ่ายโอนสิ่งต่างๆในชีวิตเราไปเป็นทรัพยากรของเขา​ ถูกควบคุม​ ถูกสอดส่อง​ และเราก็ยอมจำนน เพื่อแลกกับความสะดวกสบายน้ัน​ เพราะของฟรีไม่มีในโลก
.
ดิฉันจึงรู้สึกตื่นเต้นมาก​ กับการชนกันครั้งใหญ่ของค่ายมหาอำนาจ ที่ไม่ใช่แค่จะส่งผลให้แตกกระเจิงกันไปข้างหนึ่ง​ มีบาดแผลยับเยินพอๆกัน​ แต่ยังเป็นเหมือนบิ๊กแบง ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในโลกของการสื่อสาร​ กระแทกความเป็น​ monopoly ของค่ายยักษ์ใหญ่ให้สั่นสะเทือน​ และจะมีสิ่งใหม่ที่ถูกกดดันให้เกิดขึ้นจากปัญหาและอุปสรรค​ ซึ่งไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่​ จะดีขึ้นหรือแย่กว่าของเดิม​ ก็เป็นสัญญาณดีที่ของการพัฒนา​ ที่จะช่วยคานอำนาจของฝ่ายเดิมที่ดูเหมือนจะผูกขาดมายาวนาน​ ซึ่งแม้ผู้บริโภคตัวน้อยๆอย่างเราอาจจะได้รับผลกระทบ​ หรือความลำบากบ้าง​ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน​ แต่การแข่งขันและพัฒนาเป็นสิ่งดีืื​ และดิฉันรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกในบทนี้​ เพราะเชื่อว่า​ การทำสงครามการค้า​ แข่งกันพัฒนาเพื่อชิงความได้เปรียบทางธุรกิจ​ ยังไงก็น่าจะดีกว่า​ ทำสงครามเอาระเบิดมาถล่มฆ่าแกงกัน
.
ดิฉันพึมพำในมุมมองของชาวบ้าน​ แม่บ้านโลว์เทค ไม่ได้เป็นผู้รู้ด้านไอที​ หรือนักเศรษฐศาสตร์อะไร​ หากมีใครจะกรุณาช่วยชี้แนะ​ ในคอมเมนต์​ ก็ยินดีค่ะ

#MonsterMom
www.MonsterMom.net
#huawei​ #google #andriod​ #Trump #Tradewar