สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับ “การมีชีวิตที่ดี” คืออะไร

ท่ามกลางคำถามมากมายเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า เราเกิดมาจากไหน เกิดมาเพื่ออะไร ทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงสำหรับการมีชีวิตที่ดีคืออะไร ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่บรรดานักคิดนักปรัชญาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลพยายามหาคำตอบเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบันและไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดในอนาคต มีการตั้งสมมุติฐานต่างๆ มีการวิเคราะห์วิจัยกันอย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็นชุดความรู้ที่น่าสนใจมากมายให้ผู้คนในแต่ละสังคมพิจารณาเลือกไปยึดถือปฏิบัติ

สิ่งที่เป็นความรู้ในโลกนี้ มีตั้งแต่ระดับความรู้เชิง “ปรัชญา”ซึ่งเป็นความรู้แบบปลายเปิด ไม่มีวันจบบริบูรณ์ ที่สามารถนำไปพัฒนาตรวจสอบเพื่อเป็นแนวคิดใหม่ได้  มีความรู้ระดับที่เป็น “ศาสตร์” คือผ่านการพิสูจน์ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์หรือผ่านการสังเกตทดลองจนได้ผลเหมือนกันทุกครั้ง เช่น กฎแห่งแรงดึงดูดของโลก ถือว่าเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพราะใครนำไปทดลองก็ได้ผลเดียวกัน โดยองค์ความรู้ประเภทที่เป็นศาสตร์และเป็นปรัชญานั้น จะต่างจากชุดความคิดหรือความรู้ที่เผยแพร่ในรูปแบบ “ศาสนา” เพราะสำหรับศาสนิกชนแล้ว คำสอนของศาสดาถือเป็นสิ่งสมบูรณ์สูงสุด ไม่มีคำสอนใดในศาสนาบกพร่องจะต้องแก้ไขให้สมบูรณ์ ถือว่าเป็นความจริงสูงสุดละเมิดไม่ได้ ความรู้ทางศาสนาจึงมีลักษณะเป็นปลายปิด โดยในประเด็นนี้ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ผู้เขียนหนังสือ ปรัชญากรีก : บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก ได้กล่าวว่า “ปัญญาทางศาสนาเป็นความรู้แจ้งที่ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย แต่ปรัชญา (Philosophy) เป็นความรู้ที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป”

สำหรับคำถามว่า สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับการมีชีวิตที่ดีคืออะไร คงต้องเริ่มต้นด้วยการหาคำตอบให้ได้ก่อนว่า

ความหมายที่แท้จริงของชีวิตที่ดีคืออะไร

จากนั้นจึงหาวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งเงื่อนไขหรือสิ่งที่มีคุณค่าเพื่อการมีชีวิตที่ดีตามความหมายนั้น

แต่เมื่อเอ่ยถึงตรงนี้ อาจทำให้หลายคนแอบหัวเราะ เพราะไม่ใช่แค่ ความหมายของชีวิตที่ดี เท่านั้นที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ แม้แต่ ความหมายของการมีชีวิตอยู่ คืออะไรแน่…ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ยังตอบไม่ได้

ดังนั้น ก่อนที่จะไปไกลถึงชีวิตที่ดี คงต้องเริ่มต้นกันด้วยการตีกรอบก่อนว่า เราจะเลือกใช้ชุดความคิดหรือชุดความรู้ใดมาอธิบายความหมายหรือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

คำถามว่าคนเราเกิดมาจากไหน เกิดมาเพื่ออะไร ตายแล้วไปไหน ยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดในทางวิทยาศาสตร์  แต่ในทางศาสนาต่างๆนั้นมีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้มานานแล้ว โดย

  • ศาสนาพุทธ เชื่อว่าคนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรม เมื่อหมดสิ้นกรรมแล้วก็จะไม่ต้องเกิดอีก
  • ศาสนาคริสต์ เชื่อว่าคนเราเกิดมาไถ่บาปเพื่อมีชีวิตใหม่ในแผ่นดินของพระเจ้า
  • ศาสนาอิสลาม เชื่อว่าจุดประสงค์ของการดำรงอยู่คือเพื่อรักและรับใช้พระเป็นเจ้าผู้เป็นหนึ่งเดียวและหาที่เปรียบไม่ได้

แม้คำตอบของแต่ละศาสนาถึงเหตุผลของการเกิดมามีชีวิตอยู่ของคนเราจะแตกต่างกัน แต่ที่น่าสนใจคือ คำสอนในการประพฤติปฏิบัติตนของแต่ละศาสนานั้นกลับมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน คือการดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยนิยามของการประพฤติปฏิบัติดีของทุกศาสนา จะมุ่งเน้นการปลูกฝังวิถีชีวิตของบุคคลให้เป็นไปตามครรลองคลองธรรมที่มีเป้าหมายคือ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของผู้คนในสังคม เช่น การประกอบสัมมาชีพสุจริต การไม่ทุจริตคดโกง ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ลุ่มหลงในสิ่งมัวเมายั่วยุ มีความเมตตากรุณา รู้จักแบ่งปัน เสียสละ ฯลฯ

หากอ้างอิงจากจำนวนประชากรโลก ณ ปัจจุบันมีอยู่ราวเจ็ดพันล้านคน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ 2.1 พันล้านคน ศาสนาอิสลาม 1.5 พันล้านคน ไม่นับถือศาสนา 1.1 พันล้านคน ศาสนาพราหมณ์ฮินดู 900 ล้านคน ศาสนาพุทธทุกนิกายรวมกัน 750 ล้านคน และศาสนาอื่นๆรวมกันอีกราว 600 ล้านคน อาจทำให้เราพอวิเคราะห์ได้ว่า ถ้าเอาหลักคิดของศาสนาต่างๆเป็นเกณฑ์ มนุษย์ทั่วโลกที่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ย่อมมีมาตรฐานการตัดสินเรื่องคุณงามความดีไม่แตกต่างกันมาก เพราะแก่นแท้ของทุกศาสนาล้วนมุ่งสอนให้คนเป็นคนดี ไม่ทำร้ายกัน

ไม่มีคำสอนของศาสนาใดระบุว่า ผู้ที่ครอบครองสินทรัพย์มากแล้วจะเป็นผู้ที่มีความสุข ไม่มีศาสนาใดสอนว่า ผู้ที่มีอำนาจ มีชื่อเสียง เกียรติยศ คือผู้ที่มีความประเสริฐ ไม่มีศาสนาใดบอกว่า ชีวิตที่อุดมด้วยวัตถุสิ่งของหรือเงินทองจะเป็นถึงพร้อมด้วยความสุข ความดีงาม ซึ่งแม้ความเชื่อทางศาสนาจะไม่ได้มีไว้เพื่อการพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์อย่างวิทยาศาสตร์ แต่เราก็คงเห็นกันด้วยตัวเองว่า การต่อสู้แย่งชิง เบียดเบียน กอบโกย เพื่อให้มีมากกว่าผู้อื่นนั้น นอกจากจะไม่ได้นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงแล้ว ยังเป็นต้นเหตุของปัญหามากมายในโลกนี้ ทั้งในระดับบุคคลเรื่อยไปจนถึงระดับประเทศชาติ

อริสโตเติล นักปรัชญาคนสำคัญของโลกกล่าวว่า “ความสุขคือกิจกรรมของวิญญาณที่สอดคล้องกับคุณธรรมที่สมบูรณ์” และว่า “คนที่มีความสุขคือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมที่สมบูรณ์”

และเมื่อเปลี่ยนการใช้ชุดความคิดจากศาสนา-ปรัชญามาสู่ชุดความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ โดยพิจารณาเฉพาะสุขภาวะหรือสุขภาพที่ดีของผู้คนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาถึง “ชีวิตที่ดี” โดยหมายความรวมในสิ่งที่คนเราต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งนอกจากความต้องการที่จะสุขภาพกายที่แข็งแรงแล้ว ยังมีความต้องการทางจิตใจเป็นส่วนประกอบสำคัญ

สำหรับแนวคิดทางจิตวิทยาก็มีด้วยกันหลายทฤษฎี แต่หนึ่งในแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็คือ ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยา ที่เสนอโดย อับราฮัม มาสโลว์ ในรายงานเรื่อง “A Theory of Human Motivation มักถูกนำเสนอโดยรูป พิระมิดแบ่งออกเป็น 5 ชั้น คือ

  • ความสมบูรณ์ของชีวิต (self-actualization)
  • ความเคารพนับถือ (esteem)
  • มิตรภาพและความรัก (friendship and love)
  • ความมั่นคงปลอดภัย (security)
  • ความต้องการทางกายภาพ (physiological)

โดยทฤษฎีของมาสโลว์บอกว่า ชั้นความต้องการที่พื้นฐานมากกว่าหรืออยู่ข้างล่างของปีระมิดจะต้องได้รับการตอบสนอง ก่อนที่บุคคลจะเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าต่อความต้องการในระดับที่สูงขึ้นได้

เมื่อใช้แนวคิดในเรื่องปีระมิดความต้องการนี้เป็นเกณฑ์พิจารณาจะเห็นได้ว่า ระดับความต้องการของมนุษย์ตามชุดความคิดแบบมาสโลว์นี่เองที่เป็นเงื่อนไขของทั้งความสุขและทุกข์ของคนเรา เมื่อใดที่ความต้องการกับสิ่งที่ได้รับไม่สมดุลกันย่อมเกิดความทุกข์ และอธิบายได้ไม่ยากว่า ชีวิตจะดีหรือมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถสร้างสมดุลในความต้องการเหล่านี้ให้เกิดขึ้น โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการพยายามลดระดับความต้องการลง เพื่อลดภาระในการแสวงหามาตอบสนอง กับอีกวิธีคือคือการพยายามแสวงหาสิ่งที่ต้องการมาเติมให้เต็ม โดยการแสวงหานั้นจะต้องไม่ไปเอาเปรียบ แย่งชิง หรือเบียดเบียนผู้อื่น

แต่ปัญหาก็คือ การแสวงหาสิ่งที่มากขึ้นและมากขึ้น มาตอบสนองความต้องการที่ไม่ถูกยับยั้งของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น มักลงเอยด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจเสมอ ความสงบสุขที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้ยากในสังคมที่มีการเอารัดเอาเปรียบ แม้บุคคลนั้นจะได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการแย่งชิงมาแล้วก็ตาม เพราะไม่มีใครที่จะมีความสุขหรือมีชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืนในสังคมที่เลวร้าย

จากชุดความคิดที่ใช้เป็นกรอบการพิจารณาในที่นี้ ก็ทำให้พอสรุปได้ว่า การที่จะมีชีวิตที่ดี บุคคลย่อมต้องการสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คำสอนในทุกศาสนาที่มุ่งเน้นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จะยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ เพราะเป็นกลไกในการสร้างสังคมที่ดีให้คนได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปและมีการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวไกลไปเพียงใด

คุณค่าของการมีชีวิตที่ดี เป็นคำตอบที่เรียบง่าย อันประกอบขึ้นด้วย สุขภาพกายที่ดี สุขภาพจิตที่ดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเปิดโอกาสให้คนได้อยู่ร่วมกันอย่างมั่นคงปลอดภัยทั้งในทางกายภาพและจิตใจ มีความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลรอบข้าง ด้วยมิตรภาพ ความรัก ความปรารถนาดีแก่กันและกัน มีความรู้สึกถึงเกียรติศักดิ์ศรี มีสิ่งที่น่าภาคภูมิใจในตัวเอง และความเชื่อมั่นในศักยภาพหรือการสร้างความสำเร็จสูงสุดตามแนวทางที่ตนปรารถนา

โดยคุณค่าทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวบุคคลเองส่วนหนึ่ง และเกิดจากการร่วมมือที่ดีระหว่างบุคคลร่วมสังคมกัน ช่วยกันสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นและดำรงรักษาไว้ เพื่อผลประโยชน์และความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือการช่วยกันสร้างความหมายที่ดีของการมีชีวิตอยู่นั่นเอง

อ้างอิง:

ปรัชญากรีก : บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก / พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

A Theory of Human Motivation / อับราฮัม มาสโลว์

สำนักงานสถิติแห่งชาติ


Text: วีร์วิศ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Supalai@Home Q1 – 2019