ไฟป่าและธนาคาร เราอาจต้องเผาตัวเอง ก่อนจะเกิดไฟไหม้

 

ในทุกช่วงปลายปี จะเป็นช่วงที่เด็กๆในบ้านรวมถึงผู้ใหญ่จะต้องมีภารกิจส่วนตัวเกี่ยวกับเงินๆทองๆ แม้การไปทำอะไรที่ธนาคารจะลดลงมากเมื่อเทียบกับอดีต เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน แต่การไปเปิดบัญชีก็ยังต้องออกไปทำธุรกรรมที่สาขา

ครอบครัวของเราจะสอนให้เด็กบริหารเงินเองมาตั้งแต่เล็ก โดยให้เด็กมีบัญชีส่วนตัวเป็นชื่อของตัวเองแยกออกมาจากพ่อแม่ รายการที่เด็กยังอายุไม่ถึงไม่สามารถใส่ชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเองได้ เช่น การเปิดบัญชีหุ้น ซื้อกองทุน รวมถึงเปิดบัญชีธนาคารในช่วงที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้เยาว์ ก็ต้องมีพ่อแม่เกี่ยวข้อง แต่การตัดสินใจในการบริหารเงินลูกก็จะเป็นไปตามการตัดสินใจของลูก พ่อแม่ไม่บังคับ เพียงแต่ให้ข้อมูลที่จำเป็น และคำแนะนำตามสมควร

ถึงจะอยู่บ้านเดียวกัน แต่วิธีคิดในการใช้จ่ายและการออมของคนรุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกหลานของบ้านนี้แตกต่างกัน รุ่นปู่ย่าจะนิยมหาและสะสมเป็นหลัก ใช้จ่ายน้อยที่สุด ส่วนรุ่นพ่อแม่จะหาเพื่อสะสมส่วนหนึ่ง ลงทุนส่วนหนึ่ง ใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่ก็เน้นให้อยู่สบาย ไม่ตึงกับการเก็บออมมากเท่ารุ่นปู่ย่า ในขณะที่รุ่นลูกหลานนี้จะออกแนว หามาก ใช้มาก ลงทุนมากกว่าออม เราให้เด็กทำงานหาเงินกันเองตั้งแต่เล็ก เวลาไปเที่ยวต่างประเทศหรือไปช้อปปิ้ง เด็กบ้านนี้ก็จะเตรียมงบประมาณของตัวเองไปใช้จ่าย ของบางอย่างที่พ่อแม่ไม่คิดซื้อเพราะรู้สึกว่าราคาสูง แต่ถ้าเด็กจะซื้อด้วยเงินที่หามาเอง พ่อแม่ก็ไม่ห้าม เพราะถือว่าเป็นสิทธิ์ของใครของมัน การฝากเงินธนาคารของเด็กรุ่นลูกไม่ถือเป็นการลงทุนอีกต่อไป แต่มองว่าเป็นการใช้บริการ ที่ไหนบริการดีกว่า สะดวกกว่า คิดค่าบริการน้อยกว่า ก็จะเลือกใช้อันนั้น

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นครอบครัวใหญ่ บ่อยครั้งที่ความเห็นของปู่ย่าก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของลูกหลาน ล่าสุดเด็กๆได้รับคำแนะนำจากปู่ย่าให้เปิดบัญชีออมทรัพย์ที่ ธอส. เพราะได้ดอกเบี้ย 1.65% ไม่เสียภาษี ลูกชายก็จูงมือแม่ชวนไปเปิดบัญชีที่สาขา พร้อมด้วยเงินสดสองปึกที่มัดไว้ด้วยหนังยางใส่ซองจดหมาย ซึ่งความจริง คนเป็นแม่ก็ประเมินด้วยสายตาแล้วว่า แค่ค่ารถกับค่าแรงที่เดินทางไปธนาคารวันนี้ รวมกับค่าช้อปปิ้งระหว่างทางโดยไม่ตั้งใจเพราะธนาคารอยู่ในห้าง เดินผ่านเห็นโน่นนี่ก็เสียเงินมากกว่าครึ่งดอกเบี้ยทั้งปีไม่หักภาษีของเงินสองแสน ที่น่าจะได้ราว 3,300 บาท แต่ก็ยอมไปด้วย เพราะลูกอายุแค่ 14 ปี ธนาคารเขาอาจต้องให้ผู้ปกครองเซ็นชื่อด้วย

แต่ปรากฏว่า พอไปถึงธนาคาร ส่งเอกสารของแม่คือทะเบียนบ้านให้เจ้าหน้าที่ธนาคารทางอีเมล์แล้ว พรินท์ออกมาแล้ว ถ่ายสำเนาบัตรลูกแล้ว เจ้าหน้าที่ตรงเคาน์เตอร์ไม่แน่ใจก็โทรถามคนนั้นคนนี้ว่า เด็กอายุไม่ถึงเกณฑ์ คงเปิดบัญชีนี้ไม่ได้ เราก็เข้าใจ กฎก็เป็นกฎ เจ้าหน้าที่ธนาคารก็ขอโทษขอโพย ฉีกเอกสารที่พรินท์ออกมาให้ดูต่อหน้าเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเราดูแล้วก็ขำเพราะไฟล์เอกสารเราอยู่ในอีเมล์เขา จะพรินท์ออกมาอีกกี่ร้อยฉบับก็ได้ แล้วก่อนจากเขาก็ให้ของขวัญปลอบใจเป็นปฏิทินตั้งโต๊ะสวยงาม ซึ่งเราปฏิเสธแล้วปฏิเสธอีกว่าไม่เอา รกบ้าน เปลืองทรัพยากร เพิ่มขยะรกโลก ถ้าจะเอาเงินค่าทำปฏิทินมาพัฒนาระบบบริการออนไลน์ให้ทันสมัยไม่ต้องเสียเงินเสียเวลามาธนาคารจะดีกว่า แล้วสองแม่ลูกก็กำซองเงินขึ้นบันได้เลื่อนไปชั้นสองของห้าง เอาเงินฝาก LH Bank ที่ลูกมีบัญชีอยู่แล้ว ได้ดอกเบี้ย 1% ถามเขาว่า มีโปรไหนที่ได้มากกว่านี้ไหม เขาบอกว่า มีครับ แต่ต้องฝาก 5 ล้านบาทขึ้นไป

ลูกชายบอกว่า แหมถ้าเราเอาเงินทั้งหมดนี้ไปใส่พวก True Money Wallet หรือ Grab Wallet ถึงเขาจะไม่จ่ายดอกเบี้ย แต่ผลตอบแทนจากเงินเราเยอะกว่าดอกเบี้ยเยอะเลยนะแม่ เพราะทุกครั้งที่เราทำธุรกรรมอะไรกับเค้า เค้าจะมี Point มาให้ อย่างแม่ไปซื้อเซเว่น แม่ก็ได้ True Point บางทีก็ได้แสตมป์มาลดราคา บางทีใช้จ่ายร้อยเดียว ได้ลดตั้งสิบบาท เท่ากับผลตอบแทน 10% เลยนะแม่

เป็นที่รู้กันว่า ธุรกิจธนาคารแบบเดิมๆ กำลังมาถึงยุคสิ้นสุด นอกจากความสะดวกรวดเร็วและประหยัดของการบริหารเงินแบบ Non-Bank หรือ Social Banking ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าธนาคารหลายเท่า ก็จะทำให้การเก็บเงินและทำธุรกรรมการเงินด้วยระบบอื่นเป็นตัวทำลายธนาคาร

แม้จะไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง แต่คนเป็นแม่ก็บอกลูกว่า เงินหรือสินทรัพย์คนเรานั้นควรมี 3 ส่วนนะลูก ส่วนที่หนึ่งคือส่วนใช้จ่าย ส่วนที่สองคือลงทุน และส่วนที่สามคือการออม เงินที่เราเอามาฝากธนาคารวันนี้ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการออม แม้ว่าจะต้องยอมเสียค่าบริการและยอมให้ค่าเงินมันลดลงไปบ้างตามเวลาเพราะเงินเฟ้อ แต่เราก็ต้องมีเงินออมเอาไว้ส่วนหนึ่งเผื่อฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คนแต่ละวัยอาจมีสัดส่วนระหว่างเงินออมกับเงินลงทุนแตกต่างกัน

คนบางคนรู้สึกรวยเพราะได้ใช้จ่ายมาก บางคนรู้สึกรวยเพราะได้ลงทุนมาก และบางคนรู้สึกรวยเพราะมีเงินออมเยอะมาก ในทัศนะของแม่ ณ ปัจจุบัน มองว่า เงินที่เราใส่ไปในพวก Digital Wallet ต่างๆนั้น คือเงินใช้จ่ายและเงินลงทุน  เงินใช้จ่ายคือเงินที่ลูกซื้อไส้กรอกเซเว่นมากิน เงินลงทุนคือเงินที่ลูกโอนให้ร้านขายผ้าเพื่อเอามาตัดเสื้อขาย เงินลงทุนคือเงินที่พี่สาวของลูกซื้อรองเท้าแพงๆซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ไปใส่ร้องเพลง แน่นอนว่า การโยกเงินเพื่อไปใช้จ่ายจากระบบธนาคารเดิมๆ ไปสู่ Social Banking หรือ Digital Wallet นั้น ในส่วนของการใช้จ่ายและลงทุนย่อมดีกว่าธนาคารแน่นอน เพราะประหยัดและมีรางวัลหรือแต้มสะสมให้จากการทำธุรกรรม แต่ในส่วนการออมนั้น ตอนนี้แม่คิดว่า ยังไงเราก็คงยังต้องพึ่งธนาคารแบบเดิมๆนี่ไปก่อน จนกว่าจะมีทางเลือกที่วางใจได้มากกว่า และเราศึกษาจนเข้าใจดีแล้ว

ตื่นเช้ามาอีกวัน ปฏิทินตั้งโต๊ะจากธนาคารที่ลูกได้มาก็วางอยู่บนเคาน์เตอร์ครัวแบบไม่มีใครแยแส ถ้าปีนี้ไม่ไม่ใครอยากได้ เราก็จะเอาไปใส่รวมกับของอื่นๆในกล่องใหญ่เพื่อมอบให้พนักงานรถขยะกทม.อย่างที่ทำประจำทุกปี ด้วยอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งพิมพ์ ดิฉันมองดูปฏิทินสวยๆนั้นแล้วก็ใจหาย เสียดายในคุณค่าของมัน และถ้าคิดเป็นเงินที่ธนาคารต้องใช้ในการผลิตปฏิทินแจกทั้งหมดก็คงเป็นหลักล้านบาท เงินก้อนนี้ถ้ามาเปลี่ยนเป็นแต้มรางวัลให้ทุกครั้งที่ทำธุรกรรมหรือเพิ่มเป็นดอกเบี้ยเล็กๆน้อยๆให้ชื่นชูใจน่าจะเข้าท่ากว่ากัน

พูดมาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดถึงคำว่า Disruption ซึ่งเดี๋ยวนี้ได้ยินบ่อยกว่าเพลงชาติ แต่ดิฉันคิดถึงเรื่อง “ไฟป่า

เวลาที่ได้ยินข่าวเรื่องไฟไหม้ป่า หากไม่นับกรณีที่เป็นสาเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ คนที่สนใจศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์คงพอรู้ว่า สิ่งที่เราเรียกว่า ‘ไฟป่า’ เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้นานๆครั้ง รอบเล็กบ้างใหญ่บ้าง

“ไฟ” เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากขบวนการทางเคมี เมื่อองค์ประกอบที่จำเป็น 3 ประการ คือ เชื้อเพลิง ความร้อน และออกซิเจน มารวมตัวกันในสัดส่วนที่เหมาะสมที่จะเกิดการสันดาป (Combustion) และทำให้การสันดาปสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง การสันดาปเป็นปรากฏการณ์ในทางตรงกันข้ามกับการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) โดยที่การสังเคราะห์แสงเป็นการสะสมพลังงานอย่างช้าๆ ในขณะที่การสันดาปเป็นการปลดปล่อยพลังงานอย่างรวดเร็ว

ไฟป่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบที่จำเป็น 3 ประการ คือ เชื้อเพลิง ความร้อน และออกซิเจน มารวมตัวกันในสัดส่วนที่เหมาะสมที่จะเกิดการสันดาป และทำให้การสันดาปสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

เชื้อเพลิง – หมายถึง อินทรียสารทุกชนิดที่ติดไฟได้ ได้แก่ ทุกส่วนของต้นไม้ หญ้า วัชพืช รวมไปถึงดินอินทรีย์ (Peat Soil) และชั้นถ่านหินที่อยู่ใต้ผิวดิน (Coal Seam)

ออกซิเจน – เป็นองค์ประกอบหลักของอากาศ ในป่ามีออกซิเจนกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ปริมาณและสัดส่วนของออกซิเจนในอากาศในป่า ณ จุดหนึ่งๆ อาจผันแปรได้บ้างตามการผันแปรของความเร็วและทิศทางลม

ความร้อน – ที่ทำให้เกิดไฟป่าแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แหล่งความร้อนจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า การเสียดสีของกิ่งไม้ การรวมแสงอาทิตย์ผ่านหยดน้ำค้าง ภูเขาไฟระเบิด และแหล่งความร้อนจากมนุษย์

(อ้างอิง >>  http://www.dnp.go.th/forestfire/web/frame/lesson1.html)

ความถี่ในการเกิดไฟป่านั้น มีผู้เก็บข้อมูลระยะยาวได้ผลสรุปว่า มีความถี่ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันคือการเกิดซ้ำที่มาเป็นรอบๆ รอบเล็กบ้างใหญ่บ้าง ขึ้นกับเหตุปัจจัยของสถานที่ และทุกรอบที่เกิดก็จะเป็นทั้งตัวชี้วัดความสามารถในการอยู่รอด และตัวกระตุ้นวิวัฒนาการของพืช เช่น ไฟป่าในทุ่งหญ้าแถบแอฟริกาและอเมริกาเหนือเกิดทุกปี  ต้นไม้ใบหญ้าในแถบนั้นที่ถูกเผาล้มตายไปก็จะเกิดใหม่ในอัตราที่จะกลายเป็นเชื้อเพลิงรอบใหม่ได้ทุกปี  ในขณะที่บางพื้นที่ รอบของไฟป่ายาวนานถึง 300 ปี พวกนี้มักเป็นแถบป่าทึบ มีต้นไม้ใหญ่อายุ 200-300 ปี รอบการทำลายล้างของไฟป่าก็จะสัมพันธ์กับรอบการเกิดใหม่หรือฟื้นฟูที่ยาวนานของพันธุ์พืช

เวลาเกิดไฟไหม้ในเขตป่าทึบ ที่มีต้นไม้ใหญ่อายุยืนยาวอยู่มากๆ อย่างเช่นที่เราได้ยินในข่าวของประเทศโน้นประเทศนี้ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ในอเมริกา ที่เผาบ้านคนรวยวอดหลายหมื่นล้าน หรือในออสเตรเลีย ที่ทำเอาโคอาลาแทบจะสูญพันธุ์  คนมักคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ผิดธรรมชาติ เป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งร้ายแรง แต่ถ้ามองด้วยทัศนะทางวิทยาศาสตร์ ไฟป่าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรรอบใหญ่ในธรรมชาติของบางพื้นที่ ไม่ต่างกับการเกิดไฟป่าที่เผาทุ่งหญ้าในแอฟริกาที่เกิดถี่ทุกปี  (อ้างอิง >> https://www.thalingchan.go.th/datacenter/doc_download/a_130616_115731.pdf)

สำหรับป่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการทำลายล้างคือ การเกิดขึ้นของชีวิตใหม่ บ้างก็มาจากชีวิตเล็กๆที่เคยถูกบดบังในซอกมุมอับทึบ ไม่ให้ได้รับแสงแดด เมื่อต้นไม้ใหญ่ตายเรียบ ไม่มีใครขวางก็ได้เวลาผุดชูช่อใบขึ้นมารับแดดรับลม และบ้างก็เป็นผู้หลงเหลือรอดชีวิตจากการทำลายล้างด้วยการปรับตัวอย่างถึงที่สุด แต่สำหรับธุรกิจธนาคารแบบเดิมและอีกหลายธุรกิจอื่นที่กำลังนับถอยหลังสู่รอบวัฏจักร ‘ไฟป่า’ ของตัวเองนั้น สำหรับบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยของเรา มีแนวโน้มสูงมากที่ เมื่อตัวเอง “ล่ม” หรือพินาศลงแล้ว จะพลอยดึงประเทศให้ล่มตามไปด้วย แม้ใครจะแย้งว่า ถึงไม่มีใครทำอะไร ประเทศก็มีแต่จะล่มจมฉิบหายของมันเองอยู่แล้วทุกวัน

หลายคนคงเคยได้ยินว่า หนึ่งในวิธีป้องกันไฟป่า แม้จะฟังดูไม่เข้าท่าที่สุดแต่เป็นเรื่องจริง ก็คือ เราต้องจุดไฟเผาป่าเสียเอง ก่อนที่ไฟป่าจะเกิดตามธรรมชาติ เพราะเราสามารถควบคุมไฟที่เราสร้างเองได้มากกว่า ไฟป่าที่เราไม่รู้ว่ามันจะลุกลามไปถึงไหนและมีเหตุปัจจัยรุนแรงเพียงใด

ในฐานะลูกค้า แม่บ้านตาดำๆ แม่ของเด็กสองคน คนหนึ่งพยายามหาเงินด้วยการทำเพลง ถ่ายเอ็มวี ถ่ายโฆษณา รับจ้างแปล และอีกคนหนึ่งพยายามลงทุนทำสินค้าแฟชั่นขาย เป็นเจ้าของบริษัทเล็กๆ ที่ทุกการรับเช็คต้องส่งพนักงานไปนั่งรอคิวทีละครึ่งวัน ต้องรอเคลียร์ริ่งอีกหนึ่งถึงสองวัน โดนหักภาษีมากมายจากดอกเบี้ยเพียงน้อยนิดจากเงินออมที่หวังไว้กินใช้ยามแก่เฒ่า  ซึ่งไม่ว่าจะเหนื่อยจะเอือมยังไง เราก็ยังมีใจส่วนหนึ่งเหลือไว้ให้ธนาคารเสมอ

ก็ได้แต่ส่งกำลังใจให้คนทำธุรกิจธนาคารและธุรกิจอื่นๆ จงมีสติไหวทันกับความเปลี่ยนแปลง สามารถลุกขึ้นมาจุดไฟเผาผลาญสิ่งที่ถ่วงความเจริญของทั้งองค์กรและประเทศชาติให้หมดไปด้วยตัวเอง และเร่งปลูกเพาะสิ่งใหม่ๆดีๆขึ้นมาให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

ก่อนที่จะวอดหายไปหมดเพราะไฟป่าและพาประเทศพินาศไปด้วยพร้อมกัน

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ … สวัสดีปีใหม่ 2020 ค่ะ