ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สู้วิกฤต COVID-19
ในสถานการณ์วิกฤตจากโรคระบาด ที่เชื่อมโยงโดยตรงสู่วิกฤตเศรษฐกิจ “การประหยัด” ดูเหมือนจะเป็นคำตอบแรกที่คนส่วนใหญ่เลือกเพื่อป้องกันตัวเอง
.
แม้ในภาพรวมของประเทศ การที่ประชาชน “ประหยัด” ไม่ใช้จ่ายเงินทองมากเท่าเก่า จะทำให้เกิดภาวะ “เงินฝืด” ในระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆที่ไม่มีลูกค้าจะขาดสภาพคล่อง นำไปสู่การขาดทุน ลดแรงงาน หรือปิดกิจการ และท้ายที่สุดก็จะเป็นผลกระทบไล่เรียงมาถึงตัวเราทุกคนที่เป็นทั้งผู้บริโภคซึ่งอาจต้องซื้อของแพงขึ้นเพราะสินค้าบางชนิดขาดตลาด จากการปิดกิจการหรือลดกำลังการผลิต ทำให้มีภาวะ “เงินเฟ้อ” ร่วมด้วย และเราอาจเป็นแรงงานที่จะขาดรายได้ เพราะโดนลดเงินเดือนหรือตกงาน แต่ยังไงคนเราก็ต้องประหยัดไว้ก่อน
.
รายได้ไม่เข้า แต่รายจ่ายเดินหน้าตลอด ทำอย่างไรดี
ใครที่มีปัญหานี้ สิ่งที่ต้องทำคือ
1. ทำรายการค่าใช้จ่ายประจำออกมาให้ครบ ค่าใช้จ่ายประจำหมายถึงเงินที่ยังไงก็ต้องจ่ายในอัตราคงที่ ลดไม่ได้ เลี่ยงไม่ได้ เช่น
– ค่าผ่อนบ้าน หรือ ค่าเช่าบ้าน
– ค่าผ่อนรถ
– ค่าต่อภาษีรถ
– ค่าประกันรถ
– ค่าประกันชีวิต
– ค่าประกันสุขภาพ
– ค่าเทอมลูก
.
2. ทำรายการค่าใช้จ่ายหมุนเวียน
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ลดได้ เพิ่มได้ มีทั้งของจำเป็นมากและจำเป็นน้อย เช่น
– ค่ากิน
– ค่าเดินทาง
– ค่าแต่งตัว
– ค่าโทร / ค่าเน็ต
– ค่าน้ำค่าไฟ
– ค่าสังสรรค์ และความบันเทิง
– ค่าเรียนพิเศษลูก
.
3. ทำรายการทรัพย์สิน เช่น
– เงินสด
– สินทรัพย์ลงทุน เช่น หุ้น พันธบัตร ทอง รวมถึงประกันชีวิตแบบออมเงิน ฯลฯ
– บ้าน/ที่ดิน
– รถ
– ของมีค่า
– สิ่งของที่ขายเป็นเงินได้ (ถ้าจำเป็น)
.
4. วิเคราะห์ดูว่า ถ้าในช่วงวิกฤต เราไม่มีเงินอะไรเข้ามาเลย เงินสดที่เหลืออยู่จะรองรับค่าใช้จ่ายประจำและค่าใช้จ่ายไปได้กี่เดือน (โดยไม่ต้องเอาของอื่นๆมาขาย) เช่น
สมมุติครอบครัว มีกัน 4 คน
– มีเงินออมอยู่ 600,000 บาท
– มีค่าใช้จ่ายประจำทั้งครอบครัว เดือนละ 50,000 บาท
– มีค่าใช้จ่ายหมุนเวียน เดือนละ 50,000 บาท
– เอารายจ่ายหารเงินออม ได้ข้อสรุปเบืัองต้นว่า เราจะอยู่ไปได้โดยไม่มีเงินเข้า ประมาณ 6 เดือน
– ข้อมูลเบืัองต้นนี้จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ตัวเองได้ชัดเจน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการรับมือกับปัญหา
.
5. ลดรายจ่ายหมุนเวียน
ถ้ายังคิดไม่ออกว่า จะหารายได้เข้ามายังไง สิ่งที่ต้องทำคือ ลดรายจ่ายหมุนเวียนให้เหลือน้อยที่สุด เช่น
– ค่ากิน - เลิกกินนอกบ้าน ทำสวนครัว ทำอาหารกินเอง กินของที่ไม่แพง กินให้น้อยลง
– ค่าเดินทาง - ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางให้ประหยัดขึ้นหรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลย เช่น เปลี่ยนจากรถไฟฟ้ามาเป็นนั่งรถเมล์ เปลี่ยนจากนั่งมอไซเข้าซอยเป็นการเดิน
– ค่าแต่งตัว - ตัดให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลยยิ่งดี
– ค่าโทร / ค่าเน็ต - ปรับแพคเกจที่ถูกลง ใช้ให้น้อยลง
– ค่าน้ำค่าไฟ - ลดใช้แอร์หรือเลิกไปเลย เปิดไฟเท่าที่จำเป็น
– ค่าสังสรรค์ และความบันเทิง - เปลี่ยนมาหาความบันเทิงแบบไม่เสียเงิน
– ค่าเรียนพิเศษลูก - ตัดออกไปก่อน เรียนเอง ติวเอง จากคลิปฟรีในยูทูปก็ได้
.
6. ลดหรือพักรายจ่ายประจำ/ลดหนี้
เมื่อลดค่าใช้จ่ายหมุนเวียนแล้ว ก็ลองดูว่า มีค่าใช้จ่ายประจำรายการไหนที่สามารถลด หรือพักชำระได้ชั่วคราว โดยศึกษาข้อมูลทั้งจากภาครัฐและฝั่งผู้รับชำระ ที่อาจมีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค เช่น ลดดอกเบี้ย พักชำระได้โดยไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่ม รีไฟแนนซ์ ฯลฯ
หนี้สินบางรายการที่ดูแล้วไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นภาระค่าใช้จ่าย แม้จะไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย แต่ไม่จำเป็นที่สุด และมีค่าเสื่อมราคา ถ้าสถานการณ์ไม่ดีจริงๆ อาจต้องปล่อยขายเอาเงินสดมาไว้กับตัวก่อน ลดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยลง ซึ่งในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่การประเมินของแต่ละคน ว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น
7. เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุน
โดยพิจารณาว่า เราจะเอาทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างรายได้ หรือลดค่าใช้จ่ายอย่างไร เช่น
– ที่อยู่อาศัย >> สามารถแบ่งพื้นที่ให้เช่า นำมาเปิดเป็นร้านค้า หรือทำการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน
– รถ >> ในยามว่างที่เราไม่ใช้ เอาไปปล่อยเช่า หรือขับแกร็บ หารายได้พิเศษหลังเลิกงาน
– ของมีค่า >> ถ้าจำเป็นต้องปล่อยขายบางส่วน ก็ต้องทำ หรือจะเอาไปให้คนเช่าหาเงินก็ได้ เช่น คนที่มีกระเป๋าแบรนด์เนม ก็สามารถเอาไปปล่อยในร้านเช่าได้
– สิ่งของเครื่องใช้ ที่ขายเป็นเงินได้ (ถ้าจำเป็น) >> มีของใช้มากมายในชีวิตประจำวันของคนเรา ที่ไม่มีก็ไม่เป็นไร หรือบ้างก็ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม เพราะใช้น้อยหรือบางอย่างใช้แค่ครั้งเดียว เช่น เสื้อผ้า ชุดราตรี ชุดแต่งงาน ถ้าเมื่อไหร่เงินขาดมือ ก็ลองดูว่า จะหาแหล่งปล่อยของพวกนี้ขายได้ในช่องทางใด นอกจากจะเปลี่ยนของที่ไม่ค่อยได้ใช้เป็นทุนแล้ว ยังช่วยเคลียร์บ้านให้โล่งน่าอยู่ขึ้นด้วย
สิ่งที่มักเกิดร่วมกันเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำคือ หุ้นตก พันธบัตรราตาตก สำหรับคนที่มีพอร์ตหุ้น จังหวะนี้จึงไม่ใช่เวลาที่ดีสำหรับการขายหุ้นเพราะจะต้องขายขาดทุนหนัก ถ้าเงินที่ลงทุนในหุ้นเป็น “เงินเย็น” ก็ไม่เดือดร้อนมากนัก แต่ถ้าจำเป็นต้องขายหุ้นในภาวะขาดทุนจริงๆ เพราะเงินไม่พอหมุนเวียน ก็อาจต้องยอมทำใจ เสมือนการสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ไม่ต้องคิดเรื่องเสียฟอร์ม
ขนาดบริษัทซีพี ครั้งหนึ่งก็ยังต้องยอมขายเทสโกโลตัส เพื่อรักษาความอยู่รอดของธุรกิจ คนธรรมดาอย่างเราจะต้องตัดโน่นตัดนี่ขายบ้างเพื่อความอยู่รอดก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ยังไงก็ดีกว่า ขายยาเสพติด หรือทำทุจริต
8. ระลึกไว้เสมอว่า สภาวะวิกฤตมักเป็นจุดที่ดีสำหรับการเริ่มต้น
เพราะสสารไม่เคยหายไปจากโลก มันเพียงแต่ย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือแปรสภาพจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ความมั่งคั่งหรือเงินในกระเป๋าเราก๋เช่นกัน
นั่นหมายความว่า ในเวลาที่คนจำนวนหนึ่งยากจนมาก ก็จะมีคนบางกลุ่มรวยขึ้นมาก อย่างเวลามีศึกสงคราม คนค้าอาวุธ หรือกักตุนสินค้าบางอย่างก็จะรวยมาก ในเวลาที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เงินสะพัด คนทำสินค้าฟุ่มเฟือยก็มีโอกาสรวยมาก และในเวลาที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ บริษัทยาหรือธุรกิจเกี่ยวกับสุขอนามัยก็จะร่ำรวยมาก
ในอีกแง่หนึ่ง ช่วงเวลานี้ก็จะเป็นโอกาสทองสำหรับใครก็ตามที่ต้องการลงทุนหรือเจรจาต่อรอง หากมั่นใจว่า ตัวเองมีข้อเสนอที่ดีจริง เป็นตัวเลือกที่สามารถแก้ปัญหาที่ธุรกิจหรือองค์กรเผชิญอยู่ได้จริง รวมถึงการหาทรัพยากรต่างๆ สำหรับการทำธุรกิจใหม่ๆสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเงิน วัตถุดิบ ที่ดิน หรือทรัพยากรบุคคล ก็เป็นช่วงที่มีโอกาสได้ของดีราคาถูก และต่อให้ไม่มีเงินลงทุน ก็มีโอกาสสูงที่จะได้พันธมิตรมาเกื้อกูลกัน เพราะความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอด
ไม่ว่าเงินในกระเป๋าจะเหลือน้อยแค่ไหน สิ่งที่จะปล่อยให้หมดหรือลดตามไปไม่ได้คือ สติ และกำลังใจ