การบริหารความเสี่ยง

RISK MANAGEMENT

ในชีวิตของคนเรามีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับสิ่งไม่คาดฝันได้เสมอ เช่นเดียวกับในการทำธุรกิจก็มีโอกาสจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ เวลาที่เราได้ยินคำว่า การบริหารความเสี่ยง คนส่วนมากจะนึกถึงการจัดการป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงในการทำธุรกิจ แต่อันที่จริงแล้วการบริหารความเสี่ยงไม่ได้จำเป็นเฉพาะแต่ในธุรกิจ ความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตเรา ส่งผลให้ตัวเราเอง ครอบครัวของเรา หรือคนที่เรารักต้องประสบกับความเดือดร้อน ก็จำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการที่เหมาะสมเช่นกัน

ความเสี่ยง หมายถึง ภาวะคุกคาม ปัญหา อุปสรรค หรือการสูญเสียโอกาส ซึ่งจะมีผลทำให้บุคคล ธุรกิจ หรือ องค์กรไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ หรือก่อให้เกิดผลเสียหาย ความเดือดร้อน ไม่สามารถดำเนินชีวิตหรือกิจกรรมที่ทำอยู่ได้โดยปกติสุข และ การบริหารความเสี่ยง ก็หมายถึง การกำหนดแนวทางและกระบวนการในการบ่งชี้ วิเคราะห์ ประเมิน จัดการ และติดตามความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ระดับองค์กร หรือธุรกิจ รวมทั้งการกำหนดวิธีการในการบริหารและควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

การคำนึงถึงความเสี่ยง ภัยอันตราย และความไม่แน่นอนต่างๆ จากการพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามสภาพความเป็นจริง และการวางแผนป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้นตามสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น และถ้าเกิดขึ้นก็สามารถเตรียมการบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ผ่อนหนักเป็นเบาได้ เป็นสิ่งที่บุคคลผู้ไม่ประมาทในชีวิตพึงกระทำ

โดยพื้นฐานแล้ว คนเราควรป้องกันความเสี่ยงใดในชีวิตบ้าง

หากเอาความต้องการหรือความชอบเป็นตัวตั้ง แน่นอนว่าความเสี่ยงที่คนเราคำนึงถึงย่อมมีแง่มุมที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า ใครให้ความสำคัญกับเรื่องใดมาก ก็ไม่อยากให้สิ่งที่ตัวเองเห็นว่าสำคัญต้องเผชิญกับความเดือดร้อนและเสียหาย เช่น ความเสี่ยงที่คนรักรถทั่วไปไม่อยากให้เกิดก็คือ อุบัติเหตุบนท้องถนน รถหาย รถเป็นรอย หรือรถพัง ความเสี่ยงที่คนทำงานไม่อยากเจอก็คือ ตกงาน ธุรกิจเสียหาย ความเสี่ยงที่นักกีฬาไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ ความบาดเจ็บของร่างกาย แต่หากพิจารณาในระดับพื้นฐาน สิ่งที่คนเราควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน และไม่สร้างความเดือดร้อนให้เป็นภาระแก่คนอื่นหากเกิดปัญหาขึ้น ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ การบริหารความเสี่ยงในการดำรงชีวิต และ การบริหารความเสี่ยงในเชิงสถานภาพ

การบริหารความเสี่ยงในการดำรงชีวิต หมายถึง คนเราทุกคนที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ใหญ่ (พ้นจากวัยเด็กที่ต้องพึ่งพาครอบครัวแล้ว) ควรวางแผนบริหารจัดการชีวิต ไม่ให้มีภัยหรืออุปสรรคใดๆมาขัดขวางความสามารถที่จะพึ่งพาตัวเองได้ไปตลอดรอดฝั่ง อันประกอบด้วย การมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีความรู้ความสามารถในการหารายได้เลี้ยงตัวเอง หรือมีทรัพยากรในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรใส่ใจแต่กลับมีคนมากมายมองข้าม คนบางคนไม่เคยป้องกันความเสี่ยงในด้านสุขภาพ บางคนไม่รู้จักป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน เราจึงได้ยินข่าวของคนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสภาพแร้นแค้น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีหนี้สิน สิ้นเนื้อประดาตัว มีโรคภัยไข้เจ็บหรือปัญหาสุขภาพร่างกายที่ทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บ้างก็ไม่มีเงินรักษา กลายเป็นภาระของคนรอบข้าง และเป็นภาระของสังคม

การบริหารความเสี่ยงในเชิงสถานภาพและสังคม หมายถึง บริหารจัดการเพื่อป้องกันหรือดูแลรักษาสถานภาพที่เราต้องการให้ดำรงอยู่หรือพัฒนาไปตามความคาดหวังที่เราตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ความสำเร็จ เกียรติยศชื่อเสียง การยอมรับจากกลุ่มสังคมที่เราเชื่อมโยงด้วย ในระดับที่เราพึงพอใจ เพราะนอกจากความต้องการทางด้านร่างกายแล้ว ความต้องการทางจิตใจและการยอมรับทางสังคมก็เป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ของคนเรา

เมื่อเราได้เข้าใจความเสี่ยงขั้นพื้นฐานทั้งสองแง่มุมในชีวิตที่จำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการแล้ว เราก็ใช้กระบวนการไม่ต่างกับการจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจ นั่นก็คือ การวิเคราะห์ว่าความเสี่ยงของแต่ละเรื่องจะมีอะไรบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร เป็นสาเหตุที่ควบคุมป้องกันได้ หรือควบคุมไม่ได้ ถ้าควบคุมได้จะป้องกันอย่างไร และถ้าเกิดความเสียหายขึ้นจากเหตุที่ควบคุมไม่ได้ ความเสียหายที่ประเมินได้จะรุนแรงขนาดไหน สามารถบรรเทาหรือลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุดได้อย่างไร จะฟื้นฟูความเสียหายให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีใดบ้าง และมีวิธีใดที่จะป้องกันไม่ให้ต้องเผชิญความเสี่ยงนั้นอีกในอนาคต

ยกตัวอย่าง การบริหารความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพร่างกาย เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่จะทำให้ร่างกายเราไม่สมบูรณ์ เกิดได้ทั้งจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจัยที่ควบคุมได้ และเหตุปัจจัยที่เกิดจากความไม่แน่นอน โดยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็เช่น กรรมพันธุ์ ความเจ็บป่วยหรือพิการแต่กำเนิด ความเสื่อมโทรมตามวัย ปัจจัยที่ควบคุมได้ ก็คือ การดูแลสุขภาพกายและใจอย่างถูกสุขลักษณะ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่นำพาตัวเองไปเสี่ยงในกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนปัจจัยที่เกิดจากความไม่แน่นอน ก็เช่น อุบัติเหตุ หรือโรคระบาด เป็นต้น

เมื่อเรารู้ว่าจะมีความเสี่ยงจากเรื่องใด และจะลดความเสี่ยงในแต่ละเรื่องได้อย่างไรแล้ว เราก็ต้องวิเคราะห์และประเมินว่า หากสมมุติเราต้องเผชิญกับความเสี่ยงนั้นแล้ว จะเกิดความเสียหายระดับไหน เพราะระดับความเสียหายที่ประเมินไว้นี่เองจะทำให้เราพิจารณาต่อไปได้ว่า จะต้องวางแผนหรือลงทุนมากน้อยแค่ไหนกับการรับมือกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าประวัติคนในครอบครัวเรามีคนป่วยเป็นมะเร็งหลายคน นอกจากเราจะป้องกันตัวเองด้วยการดูแลสุขภาพอย่างดีที่สุดแล้ว เราก็อาจต้องคิดไปถึงการเตรียมเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลหรือซื้อประกันสุขภาพเตรียมไว้ เพื่อจะได้ไม่ลำบากนักหากเราเกิดเป็นโรคชนิดนี้ขึ้นในอนาคต ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็เป็นสิ่งที่หลายคนอาจมองข้าม เห็นว่าเป็นความสูญเปล่าหรือสิ้นเปลือง ไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ ทำให้เกิดปัญหาที่น่าหนักใจในภายหลัง

การบริหารความเสี่ยงในด้านการเงินส่วนบุคคล ต้องเริ่มต้นจากการวางแนวคิดที่ถูกต้องในการพึ่งพาตัวเองเป็นลำดับแรก จากในอดีตที่สังคมไทยเราเคยเป็นสังคมเครือญาติที่มีการพึ่งพาอาศัย คนจำนวนไม่น้อยจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพึ่งตัวเองอย่างแท้จริง และไม่ได้คิดถึงเรื่องความเสี่ยงต่างๆในการดำรงชีวิตอย่างจริงจังนัก แต่ในสังคมยุคใหม่ไม่ใช่สังคมแห่งการพึ่งพาครอบครัวใหญ่อย่างในยุคอดีต เมื่อใครคนหนึ่งตกงาน ล้มป่วย หรือแก่ชรา ความคาดหวังว่าจะมีครอบครัวหรือญาติพี่น้องให้พักพิงย่อมมีโอกาสผิดหวังสูง ทางที่ดีจึงควรวางแผนป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงตั้งแต่ต้น เช่น การหาช่องทางทำเงินมากกว่าหนึ่งอาชีพเพื่อให้มีรายได้เสริม การออมเงินอย่างสม่ำเสมอ มีการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง มีสินทรัพย์สำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน เรื่อยไปจนถึงการทำประกันคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ การทำประกันทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายได้หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ทำให้ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

หลายวิกฤตที่คนไทยและคนทั่วโลกต่างเผชิญมาไม่หยุดหย่อนในรอบหลายปีนี้ ต่างก็ให้บทเรียนสำคัญแก่ชีวิตผู้คนและแก่เจ้าของธุรกิจทั้งหลาย ในการรับมือกับปัญหาและอุปสรรคนานานัปการ แต่ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นก็หล่อหลอมให้ผู้คนฉลาดขึ้น และมีความสามารถในการรับมือกับทุกสถานการณ์ได้เก่งขึ้น ขอเพียงมีสติ ไม่สูญเสียกำลังใจ และไม่ประมาทในชีวิต ด้วยความยอมรับและเข้าใจว่า ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญบนทุกเส้นทางความสำเร็จ และบริหารความเสี่ยงได้อย่างรอบคอบ เราก็จะผ่านไปได้ปลอดภัยและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

อ้างอิง:

http://department.utcc.ac.th

https://searchcompliance.techtarget.com/