BORDERLESS EDUCATION / การศึกษาไร้พรมแดน
รูปแบบของการศึกษาในโลกของเรามีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และอัตราเร่งในความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างหลักๆของหลายสิ่งในโลก ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีความรุนแรงและรวดเร็วชนิดที่พลิกผันไปสู่การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่โดยสิ้นเชิง
แนวคิดที่ว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ความรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในตำรา ไม่ใช่สิ่งใหม่ โทมัส เอดิสัน ได้ทำนายไว้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1911 ว่า ต่อไปเราไม่ต้องใช้กระดาษทำหนังสือกันแล้ว สอดคล้องกับแนวคิดด้านการศึกษาของ เพลโต ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง 427 – 347 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งบอกว่า การศึกษาต้องสามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อธรรมชาติของมนุษย์เปลี่ยน การศึกษาก็จะเปลี่ยนตามไป
การศึกษาในระบบแบบเดิมๆที่ผู้เรียนต้องพึ่งสถาบันการศึกษา ต้องใช้ต้นทุน ทรัพยากร และเวลามาก แต่ได้ผลลัพธ์ออกมาไม่คุ้มค่ากับการลงทุน กำลังถูกตั้งคำถามว่า ควรจะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ ในขณะที่แพลตฟอร์มการศึกษาแห่งอนาคตกำลังเฟื่องฟู เพราะตอบโจทย์ความต้องการในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตได้มากกว่า ใช้ต้นทุนและทรัพยากรน้อยกว่า มีความเปิดกว้างให้ผู้คนเข้าถึงความรู้ได้โดยมีข้อจำกัดที่น้อยกว่าหรือแทบไม่มีเลย
ในปัจจุบันมีองค์ความรู้มากมายที่ได้รับการเผยแพร่แบ่งปันสู่สาธารณะโดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องสมัครเรียน ไม่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากใดๆ และมีระบบวัดผลด้วยตัวเองได้จากการทดลองปฏิบัติจริง มีการตรวจสอบคุณภาพความรู้โดยกลไกที่เป็นสาธารณะซึ่งเรียกง่ายๆว่าการรีวิว และการตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี ใครเก่งหรือไม่เก่ง ก็ไม่ถูกวัดด้วยกฎเกณฑ์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยมิติแคบๆเหมือนอย่างในอดีต โดยเฉพาะระบบการสอบแข่งขันแบบเก่าของโรงเรียน ที่ไม่สามารถชี้วัดเพื่อส่งเสริมอัจฉริยภาพอันหลากหลายที่ซ่อนอยู่ในคนแต่ละคนออกมาได้ ส่วนข้อมูลความรู้ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เป็นประโยชน์ ก็จะถูกคัดกรองทั้งจากกลไกการทำงานของปัญญาประดิษฐ์และจากการแสดงความคิดเห็นหรือการตอบรับของผู้คน นอกจากนี้ความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตซึ่งเดิมอาจไม่มีสอนในสถาบันการศึกษาแบบเก่า ก็จะมีอยู่มากมายในแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ต่างๆด้วยการแบ่งปันแลกเปลี่ยน และมีการช่วยกันต่อยอดองค์ความรู้นั้นให้พัฒนาต่อไปโดยผู้รู้ในสังคม
ยกตัวอย่างเช่น มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่า จะดึงห่วงเปิดฝาขวดน้ำมันพืชอย่างไรไม่ให้ห่วงพลาสติกขาด เมื่อมีคนตั้งคำถาม ก็มีผู้รู้มาสอนทั้งด้วยการเขียนและทำคลิปให้ดู มีคนสนใจใคร่รู้มากมาย มียอดแชร์ออกไปในวงกว้าง ซึ่งองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และเรียนรู้ได้ฟรีๆเหล่านี้มีตั้งแต่ เรื่องเล็กอย่างการร้อยด้ายเข้ารูเข็มให้รวดเร็ว การต้มไข่ให้เป็นยางมะตูม ไปจนถึงการทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง การประกอบชิ้นส่วนปืน การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การต่อเรือ ฯลฯ ในขณะที่องค์ความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อยุคสมัย หรืองานที่คนไม่ต้องทำเองอีกต่อไปเพราะมีเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์มาทำแทนก็จะหายไป
นอกเหนือจากความรู้ที่เป็นของฟรีจากการแบ่งปันแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ซึ่งเป็นที่ต้องการแห่งยุคสมัยยังสามารถนำมาขายหรือหาประโยชน์ทางธุรกิจได้ผ่านแพลตฟอร์มค้าขายองค์ความรู้ เปิดให้ผู้สนใจที่อยากเรียนรู้สามารถซื้อความรู้นั้นมาใช้ ได้โดยการสมัครเรียนออนไลน์ และบริหารตารางการเรียนได้เองตามความสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบโรงเรียน ไม่ต้องอาศัยวุฒิการศึกษาเดิมมาประกอบการสมัครในระดับขั้นที่สูงขึ้น เด็กม.ต้น ที่สนใจจะเรียนกฎหมายในระดับมหาวิทยาลัย ก็สามารถลงเรียนสาขาที่ต้องการได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับอายุ คุณวุฒิ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง ข้อจำกัดเรื่องภาษาที่เคยเป็นอุปสรรคก็ผ่อนคลายลงด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโนโลยีการแปลที่อำนวยความสะดวก ช่วยทลายกำแพงการเรียนรู้
มีข้อมูลน่าสนใจจากเว็บไซต์ https://www.disruptignite.com/ ที่อ้างถึง งานวิจัยของ HolonIQ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลเทรนด์และงานวิจัยทางการศึกษาระดับโลก เผย 5 ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในโลกแห่งการศึกษาในยุค 2030 ซึ่งได้วิเคราะห์มาจากการใช้ Machine Learning ดึงข้อมูล 5,000 จุดจากแหล่งข่าวชั้นนำทั่วโลก ผนวกกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่ทำงานวิจัยการศึกษาอย่าง World Bank, OCED และ UNESCO ได้แก่
Scenario 1: Education as Usual – สถาบันการศึกษาในระบบแบบเดิมส่วนหนึ่งจะยังคงเป็นหลักในการเรียนรู้ แต่จะมีไม่น้อยที่ปิดตัวลงเพราะปรับตัวตามเทรนด์ของโลกไม่ทัน และจะมีสถาบันรูปแบบใหม่ที่เน้นทักษะอาชีพโดยเฉพาะ ในรูปแบบของการร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสร้างหลักสูตรที่เน้นทักษะในการทำงานจริง ไม่เน้นทฤษฎี นอกจากนี้ก็จะเกิดการจ้างงานข้ามประเทศกันมากขึ้นในรูปแบบการทำงานออนไลน์ โดยปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ก็จะมีเทคโนโลยี blockchain เข้ามาช่วยยืนยันตัวตน ตรวจสอบประวัติการศึกษา และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
Scenario 2: Regional Rising – มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในรูปแบบกลุ่มประเทศ มีการร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคต่างๆ เช่น การรวมตัวกันของอาเซียน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการที่สถาบันการศึกษาในภูมิภาคจะร่วมมือกันปรับหลักสูตร แบ่งปันข้อมูลกัน ร่วมกันพัฒนามาตรฐานการอบรมครูให้เป็นสากลจนสามารถทำโปรแกรม exchange ให้คุณครู 1 คนสามารถสอนในหลายประเทศได้ นอกจากการ exchange คุณครูแล้ว จะเกิดการ exchange นักเรียนและคนทำงานมากขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เป็นการเรียนออนไลน์ โดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษระดับภูมิภาค คนเก่งหรือครูเก่งๆ หนึ่งคนสามารถแบ่งปันความรู้ออกไปได้หลายประเทศ แทนที่จะสอนอยู่แต่ในห้องเรียนแห่งเดียว การขึ้นเขาไปฝึกวิทยายุทธกับพระที่วัดเส้าหลิน สามารถเปลี่ยนเป็นพระวัดเส้าหลินเปิดคอร์สวิทยายุทธออนไลน์ให้คนเรียนได้ทั่วโลก
Scenario 3: Global Giants – เป็นเรื่องธรรมดาในโลกทุนนิยมที่หากสินค้าหรือสินทรัพย์ใดเป็นที่ต้องการ ผู้ที่มีทุนมากมีอำนาจมากก็ย่อมจะมีอำนาจมากกว่าในการครอบครองตลาด เมื่อความรู้หรือการศึกษาเป็นสินทรัพย์ที่โลกต้องการ เทคโนโลยีการศึกษามีความสำคัญมากในการเจาะตลาดโลก มีการคาดการณ์ว่าตลาดการศึกษาจะมีขนาด 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ตลาดที่จะเติบโตมากที่สุดคือในทวีปเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประชากรจำนวนมาก และล้วนใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลัก ผู้เล่นรายใหญ่จะเริ่มทยอยซื้อกิจการ EdTech รายย่อยจนในที่สุดผู้เล่นรายใหญ่จะสามารถให้บริการที่ครอบคลุมทุกส่วนของการเรียนรู้เชื่อมโยงกัน ทั้งคอร์สเรียน แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลการเรียน การวัดผล การสื่อสาร และการรายงานผลการเรียน และมีการร่วมมือกับบริษัทชั้นนำ เพื่อสร้าง solution การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทักษะการทำงาน และเป็น solution คุณภาพระดับโลก การพัฒนาการเรียนการสอนก็จะเป็นแบบ data-driven และ personalized มากขึ้นเพราะมีจุดข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ข้อมูลการเรียนแบบ real-time ส่งให้พ่อแม่และคุณครู ทำให้ช่วยสอนได้ถูกจุด
Scenario 4: Peer to Peer – ความเป็นไปได้ที่ผู้เรียนในยุคใหม่จะได้เลือกเรียนในสาขาที่ตนสนใจโดยตรง แบบตัวต่อตัวกับผู้ที่เชี่ยวชาญเป็นมืออาชีพตัวจริงในสาขานั้นๆ ยิ่งมีความชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านระบบออนไลน์ รูปแบบนี้เหมาะกับการเรียนรู้ทักษะการทำงานของผู้ใหญ่มาก จะมีการรับรองคุณภาพด้วย rating ของผู้สอนซึ่งถูกโหวตในระบบเปิดและการออกใบรับรองแบบใหม่ ๆ เป็นการกระจายการเรียนรู้แบบกว้างขึ้นไปอีกเพราะผู้สอนเป็นใครก็ได้ที่มีทักษะและประสบการณ์ในสายอาชีพนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากสถาบันแบบดั้งเดิม การเรียนการสอนจะถูกโยกจากระดับสถาบันมาเป็นระดับบุคคล ดังตัวอย่างที่เราเห็นว่ามีแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนเก่งคนดังในแต่ละวงการมาสอนในรูปแบบ Master Class กันมากมาย ต่อไปเราอาจได้เรียนการแสดงกับดาราฮฮลีวูดที่เราชื่นชอบ หรือเรียนทำอาหารกับเชฟชื่อดังระดับโลกก็ไม่ใช่เรื่องยาก
Scenario 5: Robo Revolution – แนวคิดนี้เชื่อว่า ต่อไป AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการออกแบบการศึกษาแบบ personalize ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนมากที่สุด ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน แต่จะได้บทเรียนที่ต่างกันตามระดับความรู้ความเข้าใจแต่ละคน ครูอาจต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน มาเป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำ รูปแบบการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ก็จะเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้เช่นกัน คือเรียนผ่านระบบแต่มี career coach คอยช่วย จะมีคนวัยทำงานหลายคนต้องตกงานจากหุ่นยนต์ก็จริง แต่ก็คาดการณ์ว่าจะมีอาชีพแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นเช่นกัน ถ้าคนไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
เทรนด์ทั้ง 5 แบบที่คาดการณ์ไว้นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นได้ในโลกของการเรียนรู้แบบไร้พรมแดน ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดว่า ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่โลกขาดแคลน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปลูกฝังทัศนคติหรือการกำหนด Mindset ของผู้คนให้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ และพร้อมปรับตัวเปิดใจในการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตอย่างที่เรียกกันว่า Lifetime Learning ก็จะช่วยให้เรามีสติปัญญา มีทักษะที่สามารถเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง
อ้างอิง
HolonIQ Education in 2030 report
https://www.holoniq.com/wp-content/uploads/2020/01/HolonIQ-Education-in-2030.pdf
https://www.disruptignite.com/blog/education2030
https://techsauce.co/tech-and-biz/5-tech-trends-are-changing-the-way-we-learn
https://www.trueplookpanya.com