เติมสีสันให้ชีวิตสดใสได้อย่างยั่งยืน

Color up your life

ปัญหาทั้งหมดของมนุษยชาติเกิดจากการที่มนุษย์ไม่สามารถนั่งเงียบๆ ในห้องคนเดียวได้”  คำกล่าวของ Blaise Pascal นักคณิตศาสตร์และนักเทววิทยาชื่อดัง ทำให้เราพอเข้าใจได้ว่า เหตุใดในแต่ละวัน เราจึงได้ยินคำโฆษณาชวนเชื่อจากสินค้าและบริการต่างๆมากมาย ถึงวิธีการอันหลากหลายที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตอันแสนจืดชืดให้มีสีสันสดใส ซึ่งเนื้อหาของโฆษณาเหล่านั้น ก็หนีไม่พ้นการชักชวนให้เราซื้อสินค้า หรือบริการต่างๆ ที่อ้างว่า จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเราจะปรารถนาสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่แปลกใหม่เข้ามาทำให้ชีวิตตื่นเต้น มีชีวิตชีวา​ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะยากดีมีจน หรือร่ำรวยล้นฟ้าชนิดที่มองจากภายนอกแล้วมีชีวิตสมบูรณ์แบบจนไม่น่าจะอยากได้อะไรอีก ธรรมชาติของคนก็ยังจะต้องการสิ่งที่ดีกว่าเดิมหรือมากกว่าเดิมเสมอ ซึ่งพฤติกรรมนี้ก็เป็นไปตาม ‘ทฤษฎีลําดับขั้นความต้องการของมนุษย์ในการดำรงชีวิตตามหลักของมาสโลว์’ ที่แบ่งสิ่งที่มนุษย์​ต้องการออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

(1) ความต้องการทางกายภาพ

(2) ความต้องการด้านปลอดภัย

(3) ความต้องการทางสังคม

(4) ความต้องการการยกย่อง ชื่อเสียง เกียรติยศ

(5) ความต้องการสูงสุดที่จะมาเติมเต็มความสมบูรณ์แบบในชีวิต ซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน

และอ้างตามทฤษฎีดังกล่าวก็จะอธิบายว่า ความต้องการเหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นลำดับขั้นขึ้นไป โดยสิ่งที่อยู่ชั้นล่างสุดคือ ความต้องการพื้นฐานทางกายภาพ และชั้นสูงๆขึ้นไปเป็นเรื่องทางอารมณ์ ความคิด และจิตใจ และมองว่าส่วนใหญ่คนที่สามารถบรรลุความต้องการมาถึงขั้นสูงสุดนี้ มักมุ่งสู่การทำประโยชน์เพื่อสังคม ดังที่เราได้ยินข่าวบ่อยๆว่ามหาเศรษฐีระดับโลกหลายคน เมื่อสำเร็จร่ำรวยจนไม่รู้จะไขว่คว้าอะไรต่อดีแล้ว ก็จะหันมาอุทิศเงินทองส่วนใหญ่ของตนให้การกุศล

ทฤษฎีของ มาสโลว์  ได้ปิดท้ายด้วยข้อสรุป ที่ตั้งอยู่บนหลักสมมติฐาน 3 ข้อ คือ

1.มนุษย์มีความต้องการอยู่เสมอและไม่มีที่สิ้นสุด

2.ความต้องการของมนุษย์จะถูกเรียงตามลำดับความสำคัญ

3. ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองแล้ว จะไม่เป็นสิ่งจูงใจของพฤติกรรมอื่น

ข้อสมมุติฐาน​ตามทฤษฎีนี้เป็นคำอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใด​ สีสันใหม่ๆในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปโหยหากันอยู่เรื่อยๆ จึงไม่ผิดอะไรที่เราจะรู้สึกว่า ต้องเปลี่ยน ต้องทำ หรือต้องแสวงหาอะไรสักอย่างมาเติมเต็ม​ชีวิตตลอดเวลา แต่คำถามคือ เราควรทำอย่างไรจึงจะเติมสีสันให้ชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน แทนการเติมแล้วเติมอีกแต่กลับไม่รู้สึกเต็ม เช่น เปลี่ยนโทรศัพท์รุ่นใหม่ เปลี่ยนรถใหม่ เดินทางไปท่อ​งเที่ยวที่ใหม่ๆ หาของกินแปลกๆใหม่ๆมาลิ้มลอง ซึ่งสร้างความรู้สึกพิเศษได้แค่ชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็ต้องไล่ล่าหาใหม่ไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด อีกทั้งยังเป็นภาระทางเศรษฐกิจสำหรับบางคนที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง

หากทฤษฎีข​องมาสโลว์เป็นความจริงทั้งหมด คำตอบอาจเป็นได้ว่า คนเราควรผ่านการไต่ระดับความต้องการขึ้นมาจนเกือบทุกขั้นก่อน จึงจะสามารถเข้าถึงความต้องการระดับสูงส่งที่เป็นนามธรรมในระดับจิตวิญญาณได้ เช่น อยากจะเปลี่ยนแปลงโลก อยากอุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์​ หรือเพื่ออุดมการณ์​อันยิ่งใหญ่บางประการ พูดง่ายๆคือต้องพ้นจากความลำบากในเรื่องปากท้อง มีความปลอดภัยในชีวิต มีสถานะที่ดีหรือมีความสำคัญในระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น ถึงจะมีปัญญาคิดเรื่องอื่นที่เหนือไปกว่านั้นได้ นั่นคือทฤษฎีนี้กำลังบอกเราว่า คนที่ยังต้องห่วงว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร ส่วนใหญ่คงไม่มีกะจิตกะใจไปคิดเรื่องกอบกู้โลก

ในทางกลับกัน อาจหมายถึงว่า ถ้ามีใครสามารถควบคุม​ความต้องการในระดับพื้นฐานไม่ให้มากมายเกินไปนัก เขาก็จะเติมเต็มความต้องการในระดับ 4 ขั้นล่างๆได้เร็ว และทำให้สามารถเข้าถึงความต้องการที่เป็นอุดมการณ์​อันสูงส่งของชีวิตได้เร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป ยกตัวอย่างคนกลุ่มนี้ ก็เช่น พระสงฆ์ หรือนักบวชที่สามารถบำเพ็ญตนให้ละความต้องการทางโลก ให้เหลือน้อย หรือหมดไปอย่างเด็ดขาด พวกเขาก็จะใช้เวลาและพลังงานส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดไปกับการเติมเต็มความต้องการในเชิงอุดมคติได้เต็มที่นั่นเอง

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเปลี่ยนไปดำเนินชีวิตในแบบผู้ทรงศีลที่จะต้องสละความต้องการทางโลก เพื่อการบรรลุธรรมขั้นสูงกันทุกคน การมีความสุขกับแค่ได้กิน ได้เที่ยว ได้เปลี่ยนรถ ก็ไม่เสียหายอะไร ตราบใดที่เราไม่รู้สึกเป็นทุกข์ เบื่อหน่าย หรือรู้สึกว่างเปล่าลึกๆอยู่ภายใน แต่หากเมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มตระหนักว่า ชีวิตเรากำลังปรารถนาบางสิ่งที่มีความหมายมากกว่านั้น เราก็ควรเรียนรู้ที่จะตั้งสติ คิดและใคร่ครวญให้พบกับคำตอบว่า สิ่งที่มีความหมายหรือมีคุณค่า​ที่แท้จริงสำหรับเราคืออะไร มีสิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอม รู้สึกดี พึงพอใจ และรู้สึกสงบสุขได้นานๆ โดยไม่เบื่อหน่าย และไม่ร้อนรนกับความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ไม่รู้สึกว่าต้องทำไปเพื่อแข่งขันหรือเปรียบเทียบกับใคร และที่สำคัญสิ่งที่มีคุณค่านั้นอาจไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ในสายตาใครนอกจากความพอใจลึกๆของเราเอง

มีคนไม่มากในโลกที่จะมีโอกาสบรรลุความปรารถนาแท้จริงในชีวิตของตน ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะเขาด้อยความสามารถหรือขาดโอกาสที่จะทำฝันให้เป็นจริง แต่เป็นเพราะขาดโอกาสที่จะทำความเข้าใจตัวเองให้ถ่องแท้ ทำให้ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง ไม่ได้วางแผนการดำเนินชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แต่ปล่อยชีวิตไปตามกระแสสังคมหรืออิทธิพลของสิ่งแวดล้อม แต่ละช่วงของชีวิตก็สัมผัสได้แค่ความสุขวูบวาบผิวเผินที่มาจากการแข่งขันเปรียบเทียบตามกติกาของโลกทุนนิยม ที่ใช้วัตถุเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ ใช้มูลค่าเป็นตัวตัดสินคุณค่า  มีภาระให้ต้องเติมสีสันแก่ชีวิตด้วยสิ่งโน้นสิ่งนี้ต่อไปไม่สิ้นสุด ในขณะที่การแต่งแต้มความสดใสให้ชีวิตในระดับจิตวิญญาณนั้น มาจากการให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดภายใน สามารถพิจารณาเห็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป้าหมายที่สำคัญต่อจิตใจ และพิจารณาถึงสิ่งที่จำเป็นจริงๆสำหรับการบรรลุเป้าหมายนั้น ก็คือการจัดสรรเวลาที่เหมาะสมให้กับการเรียนรู้ ฝึกจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆในชีวิตให้เหมาะสม ลดทอนการเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับเป้าหมายลงให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อจะได้เอาเวลามาทุ่มเทให้กับสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือมีความหมายกับเราจริงๆให้มากที่สุด เปรียบได้กับการบรรจงแต่งแต้มชีวิตของเราอย่างประณีต อย่างมีศิลปะ ด้วยสีที่สวยลงตัว ด้วยเส้นสายลวดลายที่ละเอียดอ่อนงดงาม ไม่ใช่แค่แต้มสีเลอะเทอะฉูดฉาดไปทั่วเพราะเสียงกระซิบของนักการตลาดที่คอยกระตุ้นกิเลสรายวัน

เพราะสิ่งที่ทำให้คนบางคนมีความสุขสงบจริงๆ อาจไม่ต้องจำเป็นถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโลก แต่อาจเป็นแค่การปลูกต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น เฝ้าดูความเจริญเติบโต พิจารณาให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ไม่ใช่เพื่อการเก็บเกี่ยวดอกผลของต้นไม้นั้นมาเลี้ยงชีพ บางคนมีความสุขอยู่กับชีวิตในห้องทดลอง คิดค้นยาเพื่อรักษาโรคร้าย บางคนมีความสุขกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การออกแบบสิ่งใหม่ๆ บางคนมีความสุขกับการวาดรูป ที่ไม่ได้ทำไปเพื่อเงินทองหรือชื่อเสียง ในขณะที่บางคนอาจมีความสุขกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยสัตว์ที่เดือดร้อน และสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคนบางคนมีสีสันสดใสไม่เสื่อมคลาย อาจเป็นแค่การได้รักและปรารถนาดีกับใครสักคนด้วยความจริงใจไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

การเชื่อมโยงเรื่องของการแต่งเติมสีสันของชีวิตเข้ากับ ‘ทฤษฎีลําดับขั้นความต้องการของมนุษย์ในการดำรงชีวิตตามหลักของมาสโลว์’ นั้น มองเผินๆอาจจะดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่หากคิดลึกๆจะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเมื่อก้าวพ้นจากการขั้นของการตอบสนองความต้องการทางกายภาพและความปลอดภัยในชีวิตแล้ว ส่วนอื่นๆที่เหลือเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดซึ่งมาจากปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้น ไม่ต่างกับการวาดภาพและระบายสีสันต่างๆขึ้นมาตามจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางสังคม ความต้องการการยกย่อง ชื่อเสียง เกียรติยศ เรื่อยไปจนถึงความต้องการสูงสุดที่จะมาเติมเต็มความสมบูรณ์แบบ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับความสุขทางจิตใจ คนที่สามารถค้นพบคำตอบของความสุขเหล่านี้ได้ ก็จะมีสีสันของชีวิตที่สวยงามได้อย่างสุขสงบ ไม่ต้องคอยไล่ล่าเติมเต็มสีใหม่ๆไม่รู้จบ และมีชีวิตที่เต็มเปี่ยมได้ด้วยตัวเอง

 

อ้างอิง: factsandtrends.net/