Equality of Living – ความเสมอภาคในการใช้ชีวิต
สังคมมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยความหลากหลาย ทั้งทางชาติพันธุ์ สีผิว เพศสภาวะ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ การดำเนินชีวิตร่วมกันท่ามกลางสังคมแห่งความหลากหลายให้มีสันติสุขนั้น นอกจากมนุษย์จะต้องยอมรับในความต่างของทั้งตนเองและผู้อื่นภายใต้กฎกติกาอันเหมาะสมแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำควบคู่กันไปคือการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ที่มีต้นตอมาจาก ‘ความไม่เสมอภาค’ อันเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งและปัญหามากมายในทุกสังคม
จริงอยู่ที่คนทุกคนมีความแตกต่าง และมีอะไรๆไม่เท่ากัน ทำให้มีการแบ่งแยกประเภทของคนออกเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น แบ่งตามถิ่นที่อยู่ พฤติกรรม สถานะทางเศรษฐกิจ อาชีพ หรือตามลักษณะทางกายภาพ ฯลฯ ซึ่งหากการแบ่งหรือจัดประเภทไม่ได้เป็นสาเหตุของการแบ่งแยกเพื่อเลือกปฏิบัติ ที่ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือสูญเสียสิทธิเสรีภาพอันเท่าเทียมกันกับมนุษย์คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามกฎหมาย หรือเกียรติยศศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ การแบ่งประเภทนั้นก็เป็นเพียงเรื่องของความหลากหลาย แต่ไม่ได้มีผลเสียใดๆต่อความเสมอภาคในสังคม
แต่ในทางกลับกัน หากการแบ่งแยกเกิดขึ้นควบคู่กับ ‘การเลือกปฏิบัติ’ เช่น การแบ่งแยกเพศที่มาพร้อมกับการกดขี่ทางเพศ ทำให้เพศใดเพศหนึ่งในสังคมไม่ได้รับสิทธิอันเท่าเทียมกับเพศอื่น ก็ย่อมจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่างในสังคมที่มีการกีดกั้นในเรื่องสิทธิสตรี โดยใช้ศาสนาหรือกฎหมายเป็นเครื่องมือ ย่อมทำให้สมาชิกเพศหญิงในสังคมนั้นขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ทรัพยากร และสิทธิทางการเมือง หรือการเหยียดสีผิวที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานในสังคมตะวันตก การกีดกันสิทธิของเพศทางเลือก และการออกกฎหมายลงโทษกลุ่มคนที่มีเพศสภาพหรือเพศวิถีแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในหลายๆประเทศ
ความเสมอภาคคืออะไร
ความเสมอภาค คือ ผลลัพธ์จากการสร้างบรรทัดฐานและกฎกติกาอย่างเป็นธรรมที่ทำให้สมาชิกทุกคนในทุกสังคมมีโอกาสเท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตและความสามารถของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด บนพื้นฐานความคิดที่ว่าไม่มีใครควรมีโอกาสในชีวิตที่ต่ำต้อยกว่าใคร เพราะพวกเขาเกิดมาจากไหน มีความเชื่อแบบไหน มีสภาพร่างกายที่แตกต่างกันอย่างไร มีเพศสภาพหรือเพศวิถีแบบใด หรือมีความความพิการหรือไม่
ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับความเสมอภาค
เพราะความไม่เสมอภาคที่ผ่านมาทำให้ในอดีตกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีลักษณะแตกต่างไม่ได้รับการคุ้มครองโดย เชื้อชาติ ความทุพพลภาพ เพศและรสนิยมทางเพศ ถูกเลือกปฏิบัติ การแบ่งแยก เหยียดความต่าง
การกีดกัน การเลือกปฏิบัติ คือสิ่งที่มักเกิดขึ้นในสังคมที่ไม่มีความเสมอภาค นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ และความขัดแย้ง
เพราะความเสมอภาคจะทำให้คนทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงโอกาสต่างๆอย่างเท่าเทียม มีศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนาตัวเอง มีความรู้ความสามารถ ที่ทำให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเท่ากับคนอื่นๆ เป็นปัจจัยทำให้สังคมมีสัดส่วนประชากรที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น
ความเสมอภาคเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความเจริญทางอารยธรรมและระดับความคิดของผู้คนสังคม และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในสังคมที่มีความหลากหลาย
เราจะมีส่วนสร้างความเสมอภาคในสังคมได้อย่างไร
การเปิดใจกว้าง เรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชน เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเสมอภาค
คนทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเข้าใจความเท่าเทียมและรู้ถึงสิทธิของตน ควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจว่าควรปฏิบัติอย่างไรและควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร ทำให้สังคมเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในการสำรวจ อภิปราย ท้าทาย และสามารถแสดงออกถึงตัวตน ความคิด ความเห็นและค่านิยมของตนเอง
ความรู้และความเคารพในสิทธิ เมื่อรวมกับความเข้าใจ ความเคารพให้เกียรติ และความอดทนต่อความแตกต่าง สามารถช่วยให้ผู้คนในสังคมจัดการกับอคติ ปรับปรุงความสัมพันธ์ กล้าแสดงออกและกล้าที่จะใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด ในสังคมที่มีความหลากหลายและท้าทายมากขึ้น การปลูกฝังให้เยาวชนมีทัศนคติเชิงบวกและเปิดใจกว้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เราควรส่งเสริมความเสมอภาคในเรื่องใดบ้าง
หากอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลักความเสมอภาคเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือเป็นหลักที่ยอมรับว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามนั้นต่างมีความเท่าเทียมกันและห้ามมิให้รัฐในฐานะที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจปกครองเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุ แห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นในทางการเมืองอันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
พูดง่ายๆก็คือ เราควรส่งเสริมความเสมอภาคในทุกเรื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล ด้วยข้อเท็จจริงที่ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค เช่น อาชีพบางอย่างอาจไม่สามารถอนุญาตให้คนที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจบางลักษณะมาทำได้ อย่างคนตาบอดก็ไม่ควรมาทำหน้าที่พนักงานขับรถ หรืออย่างการกำหนดอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ไม่ควรให้คนที่ไม่พร้อมมาใช้สิทธิ์ เช่น เด็กเล็ก หรือผ้สูงอายุที่สูญเสียความทรงจำ เพราะสิทธิทางการเมืองนั้นเป็นการกำหนดโดยการคำนึงถึงวิจารณญาณในการตัดสินใจทางการเมืองของบุคคล จึงจำเป็นต้องกำหนดให้เฉพาะบุคคลซึ่งมีวัยวุฒิที่เหมาะสม
หลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่ว่าการดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำเหมือนกันทั้งหมด แต่เป็นไปตามคำกล่าวของ Hart ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Concept of Law ว่า “Treat like cases alike and treat different cases differently” ซึ่งหมายความว่า “สิ่งที่เหมือนกัน ต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน”
ในฐานะบุคคลธรรมดา เรามีส่วนสร้างและปลูกฝังความเสมอภาคได้โดยเริ่มจากตนเองและครอบครัว การเปิดใจรับฟังความคิดความเห็น ยอมรับในตัวตน ทัศนะ ความเชื่อ พฤติกรรมที่แตกต่างกันของคนใกล้ตัว จากความต่างของวัย เพศ การศึกษา ประสบการณ์ ฯลฯ ว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย การทำความเข้าใจและสร้างความยอมรับในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ให้เข้าใจในสิทธิของตัวเองและของผู้อื่นเพื่อที่จะได้ไม่ละเมิดสิทธิของใครและสามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ เช่น ผู้ใหญ่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้เยาว์ นายจ้างไม่ละเมิดสิทธิลูกจ้าง ธุรกิจองค์กรต่างๆไม่กีดกันสิทธิในการเข้าทำงานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิของผู้พิการ ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคมให้เกิดความเท่าเทียม เช่น ถ้าเราเปิดร้านค้าหรือทำธุรกิจ ก็ควรคิดถึงคนทุกกลุ่มและให้บริการอย่างเสมอภาค ในส่วนของการออกแบบอาคารสถานที่ หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ก็ต้องเอื้อให้คนทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาว เด็ก คนชรา หรือคนพิการ ดังนี้เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว คนส่วนมากอาจจะไม่ได้ใส่ใจกับการเรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคใดๆ ตราบเท่าที่เขายังไม่รู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ์ หรือถูกกดขี่ให้เกิดความทุกข์ทรมานไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจจนถึงขั้นที่ไม่อาจทานทนได้ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นจะปรับตัวให้อยู่ได้กับสภาวะที่ตนเองเกิดมาหรือสภาพที่คุ้นชิน และยอมรับกับสถานะทางสังคมของตัวเองได้อยู่แล้ว แม้จะรู้ว่าตัวเองไม่ได้รับความเสมอภาคบางอย่างก็ไม่ค่อยจะมีใครใส่ใจลุกขึ้นมาเรียกร้องความเสมอภาคให้ตัวเองนัก จึงเป็นเรื่องยากเข้าไปอีกที่จะมาใส่ใจให้ตระหนักถึงการสร้างความเสมอภาคให้คนอื่น หรือช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าตน แต่หากเขาได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงผลเสียจากความไม่เสมอภาคหรือความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในส่วนที่จะมีผลกระทบต่อตัวเขาเอง ก็จะเกิดแรงกระตุ้นให้หันมาใส่ใจร่วมมือทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นได้ เพราะผลลัพธ์สูงสุดของการสร้างความเสมอภาคคือความชอบธรรม ซึ่งจะทำให้สังคมที่เราอยู่เป็นสังคมที่ดีสำหรับทุกคน
อ้างอิง
https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/8think/think16.pdf