ถั่วงอก Superfood สำหรับคนสุขภาพดี ไม่อยากแก่

ใครบ้างที่ชอบสั่งก๋วยเตี๋ยวหรือผัดไทยแล้วตามด้วยคำว่า “ไม่งอก” ? ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น บอกเลยว่าอาจต้องคิดใหม่ หากคุณได้รู้ว่า “ถั่วงอก” (ที่มาจากการเพาะถั่วเขียว) หนึ่งในวัตถุดิบที่แสนคุ้นเคยในอาหารเอเชียนานาชนิด หรือจะเพาะเองที่บ้านก็แสนง่ายดายนั้น มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก และที่สำคัญยังช่วยต้านความแก่ ซึ่งเรื่องนี้อาจฟังดูน่าตื่นเต้นสำหรับคนที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่เป็นเรื่องที่วงการแพทย์และนักโภชนาการรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ
.
การกิน “ถั่วงอก” เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาด้านโภชนาการของชาวเอเชียมาช้านาน คนไทยเรารู้จักการกินถั่วงอกเพราะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอาหารจีน ประเทศแรกในโลกที่เพาะถั่วงอกหัวโตกินก็คือ จีน มีหลักฐานแสดงว่าจีนกินถั่วงอกมาตั้งแต่ 2,930 ปีก่อนคริสตกาล คนจีนโบราณใช้ถั่วเหลืองงอกเป็นแหล่งวิตามินซีในฤดูหนาวที่ผักและผลไม้หายาก กะลาสีเรือจะเพาะถั่วงอกกินในเรือเพื่อป้องกันและรักษาโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจที่ในถั่วเหลืองงอกนั้นมีวิตามินซี ในขณะที่ถั่วเหลืองดิบและเต้าหู้ที่ผลิตจากถั่วเหลืองกลับไม่มีวิตะมินซีเลย เพราะกระบวนการที่เมล็ดถั่วงอกขึ้นมาทำให้เกิดวิตะมินซีขึ้นในถั่วงอก
.
การเพาะถั่วงอกกินเพื่อเป็นอาหารบำรุงสุขภาพแพร่หลายไปในหลายวัฒนธรรม (ถั่วงอก 100 กรัม มีวิตามินซี 5 มิลลิกรัม) กินถั่วงอกทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนต่างจากการกินผักทั่วไป โปรตีนในถั่วงอกจะมีมากกว่าถั่วธรรมดา นอกจากนั้นกระบวนการงอกยังทำให้ เกิดวิตามินบี 12 ซึ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ อีกทั้งถั่วงอกยังมีธาตุเหล็กที่ร่างกายย่อยได้ง่ายกว่าผักอื่นๆ มีวิตามินบี 17 และมีสารเลซิธิน (Lecithin) ช่วยบำรุงประสาทและการทำงานของสมอง
.
นักการแพทย์และนักโภชนาการแผนจีนนิยมนำถั่วงอกหัวโตไปต้มแกงจืดกิน ช่วยขับเสมหะ ทำให้ปอดโล่ง และขับปัสสาวะ และเนื่องจากโมเลกุลของสารอาหารในเมล็ดของถั่วที่งอกได้เปลี่ยนแปลงไปอยู่ในลักษณะที่ร่างกายเราสามารถย่อยได้ง่าย โปรตีนถูกย่อยเป็นกรดอะมิโน แป้งเป็นคาร์โบไฮเดรตธรรมดาหรือกลูโคส และไขมันเป็นกรดไขมันเรียบร้อยแล้ว ถั่วงอกจึงเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ช่วยประหยัดการทำงานให้กับระบบย่อยอาหาร ลดของเสียและสิ่งตกค้าง (toxin) ในร่างกาย เมื่อระบบร่างกายไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ร่างกายจึงเสื่อมช้า ไม่แก่เร็ว
.
ข้อมูลน่าทึ่งที่ปรากฎในองค์ความรู้สาขาเวชศาสตร์ชะลอวัยระบุว่า การกินถั่วงอกสดๆ ช่วยให้คนไม่แก่เร็ว เนื่องจากในถั่วงอกมีสารต้านความแก่ชื่อ ออซินอน (Auxinon) มีคุณสมบัติช่วยให้ร่างกายเป็นหนุ่มสาวได้นาน ใครไม่อยากแก่ก็กินถั่วงอกกันเยอะๆ แถมไม่ต้องกลัวอ้วน เพราะถั่วงอกอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด และให้พลังงานต่ำ การกินถั่วงอกเป็นประจำช่วยป้องกันโรคหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน (เพราะถั่วงอกมีสารต้านอนุมูลอิสระชื่อ ฟีโนลิค ที่อาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารประเภทน้ำตาลและนำไปใช้ได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยกระตุ้นการผลิตไกลโคเจนและปรับระดับไขมันในร่างกาย) ลดความดันโลหิต (เพราะกรดอะมิโนและโปรตีนที่พบในสารสกัดจากถั่วงอกมีคุณสมบัติช่วยลดระดับของความดันโลหิต)
.
สารอาหารหลายชนิดที่สกัดได้จากถั่วงอก เช่น โพลีฟีนอล กรดแกลลิก และฟลาโวนอยด์ มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จึงเชื่อกันว่าการบริโภคถั่วงอกอาจบรรเทาอาการของโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และช่วยแก้ปัญหาผิวหนัง เช่น รักษาสิว ลดริ้วรอย และจุดด่างดำ
.
แต่ถึงจะมีประโยชน์มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ การกินถั่วงอกก็ต้องกินอย่างพอดี ก่อนนำมากินสดหรือปรุงอาหารควรล้างให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากขั้นตอนการปลูก การขนส่งหรือเก็บรักษาที่ไม่ดีอาจทำให้ถั่วงอกปนเปื้อนเชื้อที่อาจทำให้ท้องเสีย อาเจียน และอาหารเป็นพิษ ที่สำคัญคือต้องระมัดระวังสารฟอกขาวที่พ่อค้าแม่ค้าหรือเกษตรกรใส่ให้ถั่วงอกดูขาวสะอาด ไม่มีรอยช้ำ หากร่างกายได้รับสารฟอกขาวในปริมาณมากอาจตกค้างภายในร่างกายและเป็นอันตราย
.
การกินถั่วงอกดิบ ก็ต้องระวังผลเสียจากสารไฟเตท เพราะสารนี้มีคุณสมบัติยับยั้งการดูดซึมโปรตีนและแร่ธาตุ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม สังกะสี หรือแมกนีเซียม จึงไม่ควรกินถั่วงอกดิบปริมาณมากและต่อเนื่อง แทนที่จะได้ประโยชน์อาจกลายเป็นโทษ ทำให้เกิดโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ควรกินถั่วงอกที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
.
การเพาะถั่วงอกกินเอง เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราได้กินอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งทำไม่ยากเลย เริ่มต้นจากการเอาเมล็ดถั่วเขียวไปแช่น้ำอุ่นประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อโรค และช่วยกระตุ้นให้ถั่วงอกได้ดี เทถั่วเขียวใส่ชามหรือขวด ใช้ผ้าไนลอนหรือผ้าขาวบางปิดปากขวด ใช้หนังยางรัดให้แน่น เปิดน้ำใส่ขวดให้ท่วมเมล็ดถั่ว แล้วเทน้ำทิ้ง วางขวดในแนวนอน เก็บไว้ในที่มืด หรือใส่ไว้ในถุงกระดาษทึบสัก 3 ชั่วโมง เปิดน้ำใส่ขวด และเทน้ำทิ้งเหมือนเดิมอีกทุกๆ 3-4 ชั่วโมงในวันแรก แล้วเก็บไว้ในที่มืดตามเดิม อดใจรอประมาณ 3 วัน ก็สามารถนำถั่วงอกไปกินได้ โดยเอาไปล้างเปลือกเขียวๆ ออกก่อน ด้วยการใส่ตะแกรงร่อนให้เปลือกหลุด ซึ่งถ้าเราปลูกเองก็สบายใจได้ว่าปลอดภัยจากสารฟอกขาวและเชื้อโรคแน่นอน ส่วนใครที่ชอบกินบ่อยๆ อย่าลืมว่ากินแบบสุกจะดีต่อสุขภาพมากกว่ากินถั่วงอกดิบ สามารถทำเมนูอร่อยได้มากมาย เช่น ผัดน้ำมันหอย ผัดเต้าหู้ แกงจืด ผัดไทย ขนมผักกาด หรือใครจะนำมาลวกใส่ในสลัดก็แสนง่ายดาย เป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะกับทุกคน
———-
ถั่วงอก (Mung Bean Sprout)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Mung Bean
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vigna radiata
ชื่อวงศ์ : Fabaceae.
———-
อ้างอิง:
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
หน่วยสารสนเทศมะเร็ง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_showpic.php…