มาลัยดอกไม้ Flower Garlands
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีธรรมชาติในการสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ ปรุงแต่ง จากสิ่งหนึ่งให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ๆอย่างไม่หยุดนิ่ง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นจุดกำเนิดของศิลปะวิทยาการและอารยธรรมทั้งหลายในโลกนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและสืบเนื่องไปจนถึงอนาคต ซึ่ง ‘ศิลปะการร้อยดอกไม้’ เช่น พวงมาลัย (garland) หรือพวงหรีด (wreath) ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ตกแต่งขึ้นจากการใช้วัสดุตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ใบหญ้า หรือแม้แต่กิ่งก้านและเมล็ดของพืชต่างๆ มาจัดระเบียบร้อยเรียงร่วมกันขึ้นให้กลายเป็นสิ่งใหม่ มีความหมายที่แตกต่างไปจากเดิมตามธรรมชาติ และใช้สิ่งประดิษฐ์จากดอกไม้ใบหญ้านี้เป็นเครื่องสื่อความหมายในเชิงวัฒนธรรมมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อถึงระดับชนชั้นทางสังคม ลาภ ยศ บรรดาศักดิ์ ชัยชนะ หรือความมั่งคั่ง สื่อถึงความเป็นสิริมงคลในโอกาสต่างๆ เรื่อยไปจนถึงการสื่ออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เช่น ชื่นชมยินดี ยกย่อง รักใคร่ อาลัย หรือแสดงความเศร้าเสียใจ
การร้อยพวงดอกไม้เป็นมาลัยหรือเป็นหรีดสำหรับคล้องคอหรือสวมศีรษะในยุคประวัติศาสตร์มีมานานตั้งแต่สมัยกรีกเลยทีเดียว เช่น การนำช่อมะกอกมาถักร้อยเป็นวง แทนมงกุฎสำหรับสวมเหนือศีรษะสำหรับผู้ชนะในกีฬาโอลิมปิคยุคโบราณ
การร้อยมาลัยในวัฒนธรรมของอินเดียดั้งเดิมเป็นต้นกำเนิดสำคัญที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบศิลปะการร้อยมาลัยดอกไม้ในหลายประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยของเรา โดยชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูจะมีการร้อยพวงมาลัยดอกไม้เพื่อการบูชาปวงเทพต่างๆ ที่เคารพนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล ดอกไม้ที่นิยมใช้ทำมาลัยได้แก่ มะลิ จำปี จำปา บัว ลิลลี่ เข็ม ยี่โถ เบญจมาศ กุหลาบ ชบา ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความหมายที่ดี
แม้ประวัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรของการร้อยมาลัยดอกไม้ของไทยจะมีกล่าวอ้างมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เนื้อหาที่ระบุในข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น เพราะนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่สืบพบว่า เรื่องราวดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มาจากการบันทึกของบุคคลที่ไม่อาจยืนยันได้ว่ามีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ก็คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ ผู้บันทึกเรื่องราวเชิงอัตตาชีวประวัติว่าตนเป็นนางสนมเอกในสมัยพระเจ้าอรุณมหาราช หรือพระร่วง พระเจ้าแผ่นดินในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยในข้อมูลนั้นก็มีการบอกเล่าว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ เป็นผู้ที่มีความสามารถในงานด้านฝีมือในการประดิษฐ์ดอกไม้สดเป็นเลิศ ในสมัยนั้นตามหลักฐานที่อ้างถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้คิดตกแต่งโคมลอยให้งดงามวิจิตรกว่าโคมของพระสนมอื่นทั้งปวงโดยการนำเอาดอกไม้ต่างๆมาประดิษฐ์ตกแต่ง และยังได้เอาผลไม้มาทำการแกะสลักตกแต่งประกอบ ทั้งนี้ยังมิได้มีการอ้างถึงว่าในการตกแต่งครั้งนั้นมีการร้อยมาลัยมาประดับตกแต่งด้วยหรือไม่ แต่ก็ทำให้คนอ่านที่ไม่คิดมากเชื่อกันไปเรียบร้อยว่า นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ นั้นนอกจากจะทำกระทงเก่งแล้วยังร้อยมาลัยเก่งอีกด้วย โดยไม่สนใจจะสงสัยว่าบุคคลนี้จะมีจริงหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ในหลักฐานยังอ้างถึงตอนหนึ่งว่า ในเดือนเมษายนมีพระราชพิธีสนามใหญ่บรรดาเจ้าเมือง เศรษฐี คหบดีเข้าเฝ้าถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้าเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการพระสนมกำนัลต่างๆ ก็ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปสัตว์ต่างๆใส่เมี่ยงหมากถวายให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ผู้มาเฝ้า และในครั้งนั้นนางนพมาศก็ร้อยดอกไม้สีเหลืองเป็นรูปพานทองสองชั้นรองขัน มีระย้าระบายงดงามในขันใส่เมี่ยงหมากแล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายคลุมขันอีกทีหนึ่งเป็นที่เจริญตาและถูกกาละเทศะอีก สมเด็จพระร่วงเจ้าจึงทรงบัญญัติว่าถ้าชาวไทยทำการรับแขกเป็นการสนามใหญ่ มีการอาวาหมงคล หรือวิวาหมงคล เป็นต้น ก็ให้ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปพานขันหมากดังนี้ และให้เรียกว่า พานขันหมาก
ในช่วงที่ประเทศไทยปลอดจากศึกสงคราม ศิลปวัฒนธรรมต่างๆมีความเจริญพัฒนาขึ้นมาก เช่นเดียวกับศิลปะการจัดดอกไม้ ร้อยมาลัย มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ทุกรัชกาลนั้น งานฝีมือด้านการประดิษฐ์ดอกไม้ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชามาก โดยเฉพาะงานพิธีต่างๆในสมัยรัชกาลที่5 มีพระราชนิยมการทำดอกไม้ของไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีงานราชพิธีใดๆเจ้านายฝ่ายในต้องประกวดกันจัดแต่งดอกไม้มาถวายให้ทรงใช้ในงานนั้นๆเสมอ พระมเหสีเทวีทุกตำหนักใฝ่พระทัยในการจัดแต่งดอกไม้ไปตามๆกัน แต่ละพระองค์ก็มีชื่อเสียงในทางต่างๆกัน ศิลปะการร้อยมาลัยดอกไม้จึงเป็นหนึ่งในการประกวดประขันฝีมือของสตรี และเป็นเครื่องแสดงระดับรสนิยมในแวดวงสังคมชั้นสูงที่มีนัยยะในการข่ม หรืออวดความเหนือชั้นกว่าสตรีอื่นๆ อย่างชัดเจน ภายใต้ระบบสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และผู้หญิงมีหน้าที่แข่งขันความสามารถในการเป็นแม่บ้านแม่เรือนเพื่อมัดใจชาย
ตราบจนทุกวันนี้ ศิลปะการร้อยมาลัยดอกไม้ก็ยังมีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง และศิลปะการร้อยมาลัยชั้นสูงของสาวชาววังก็กลายเป็นองค์ความรู้ที่มีการเผยแพร่เป็นหลักวิชาในระบบการศึกษา เริ่มตั้งแต่การเปิดวิทยาลัยในวัง โรงเรียนการเรือน เรื่อยมาจนถึงสถาบันการศึกษาวิชาชีพในปัจจุบัน ทำให้วัฒนธรรมการใช้มาลัยดอกไม้แพร่หลายไปทั่ว โดยคนไทยจะมีการใช้มาลัยดอกไม้ในวาระต่างๆ เช่น ใช้คล้องคอเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่เป็นมงคล เช่น งานแต่งงาน งานเฉลิมฉลองชัยชนะ การเลื่อนขั้น การแสดงความต้อนรับ การรับขวัญ ใช้เพื่อแสดงความเคารพยกย่องบุคคลสำคัญ เช่น ใช้สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายในการรับเสด็จฯ รวมไปถึงใช้ตกแต่งสถานที่ในวาระพิเศษ นอกจากนี้ยังใช้มาลัยบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แสดงความเคารพต่อครูบาอาจารย์ บ้างก็ใช้สำหรับตกแต่งรัดมวยผมสำหรับการแต่งชดไทย หรือในการแสดง ฯลฯ
นอกจากการร้อยดอกไม้เพื่อเป็นมาลัยในพิธีมงคลแล้ว ยังมีการจัดร้อยดอกไม้เพื่องานอวมงคลด้วย เรียกว่าพวงหรีด คำนี้มาจากคำว่า Wreath ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึงการจัดร้อยช่อดอกไม้ใบไม้เป็นวงกลม แต่หรีดหรือ Wreath ของฝรั่งไม่ได้มีไว้ใช้ในงานศพเหมือนบ้านเรา แต่เอาไว้ตกแต่งประตูหน้าต่างบ้าน หรือตกแต่งต้นคริสตมาส รวมถึงใช้สวมเป็นมงกุฎดอกไม้ให้กับหญิงสาวและเด็กๆในงานวิวาห์ด้วย
จวบจนปัจจุบัน แม้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยเราจะเปลี่ยนไปมาก แต่การใช้มาลัยดอกไม้ในโอกาสต่างๆก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ศิลปะการร้อยมาลัยดอกไม้เป็นหนึ่งในศิลปะอันงดงามที่สืบทอดมายาวนาน ซึ่งน่าจะดีหากคนไทยรุ่นใหม่ๆจะช่วยกันสืบสานให้ดำรงและพัฒนาต่อไป…ไม่ให้สูญหายไปกับวันเวลา
A garland is a decorative wreath or cord which can be hung round a person’s neck or on inanimate objects. Originally garlands and wreaths were made of flowers or leaves. Each type of garlands in different culture represents different meanings and will be used in different occasions. In many cultures, flower or leaves garlands are made to be worn as necklaces, bracelets or crown in order to indicate social status of person. The victors of the Olympic Games in ancient Greece were awarded crowns made of olive branches. In Antiquity, the symbolism of plants was related to myths, properties, aesthetic values, and civilization. In India, where flower garlands have an important and traditional role in every festival, Hindu deities are decorated with garlands made from different fragrant flowers and leaves.
Thai garlands are influenced from India from the Buddhism. The history of Thai garlands begin in Sukhothai and has been devoted to the ongoing history until now.
ผู้เขียน + ถ่ายภาพ : วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
อ้างอิง
http://www.kr.ac.th/ebook/pornpen/b1.htm
กันหา อัมพวัน. งานร้อยดอกไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพฯ. ไทยวัฒนาพานิช จํากัด, 2538.
จันทนา สุวรรณมาลี. มาลัย พิมพ์ครั้งที่ 2. โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, กรุงเทพ. 2533.
บุษกร เข่งเจริญ. ร้อยกรองมาลัยดอกไม้สด. พิมพ์ครั้งที่ 1. บริษัท สํานักพิมพ์แม่บ้าน จํากัด, 2553.
เสกสรรค์ ชัยเกษมสุข. แผนการจัดการเรียนการสอนการร้อยมาลัย. โรงเรียนบ้านเชือก. 2550.
http://tc.mengrai.ac.th/mrpornpen/page9.htm
http://kpsresearch.kalasinpit.ac.th/attachments/article/22/